กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จัดงานเสวนา “ส่งเสริมอำนาจละมุน Soft Power ผ่านละครไทย หมอหลวง โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในงานเสวนา และมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ผู้บริหาร ผู้กำกับ ผู้จัดละคร ตัวแทนนักแสดง แขกผู้เกียรติ เครือข่ายทางวัฒนธรรม และสื่อมวลชน เข้าร่วม ทั้งนี้เสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมออกสู่ระดับสากล เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ชุมชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ปลุกกระแสสำคัญคือ อุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ทั้งละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างความสำเร็จในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทย โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ณ อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ละครหมอหลวง ออกอากาศในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ช่อง 33 และ ทางแอปพลิเคชัน CH3Plus ผลิตโดยบริษัท โซนิกซ์ บูม 2013 โดย ชุดาภา จันทเขตต์ และ ปิยะ เศวตพิกุล ละครหมอหลวงนับเป็นหนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์ที่ทรงพลังของยุคปัจจุบัน ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างสรรค์ผลงานละครโดยบูรณาการภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว จนทำให้เกิดปรากฏการณ์และเป็นกระแสความสนใจอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นเรตติ้งความนิยม การตอบรับอย่างถล่มทลายในทุกครั้งที่จัดกิจกรรม และละครหมอหลวงยังมีการจำหน่ายลิขสิทธิ์เพื่อไปออกอากาศต่อยังแพลตฟอร์มของต่างประเทศ โดยละครหมอหลวงสามารถผลักดันเรื่องสมุนไพร อาหารไทยที่เป็นประโยชน์ และแพทย์แผนไทย ให้เป็นที่สนใจในวงกว้างของผู้ชม ทั้งในและต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เล็งเห็นว่า “หมอหลวง” ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการใช้สื่อบันเทิงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์จากสื่อบันเทิง ให้เป็นที่แพร่หลาย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการถอดบทเรียนจากละครหมอหลวง ที่จะเป็นแนวทางในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและคอนเทนต์ของไทยต่อไปในอนาคต และแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินงานส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีประเด็นการเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมสื่อบันเทิงอย่างละครและภาพยนตร์สู่สากล ทั้งจากกระทรวงวัฒนธรรมและตัวแทนผู้ประกอบการ เบื้องหลังและความสำเร็จในการพัฒนาละครที่สอดแทรกความรู้ด้านแพทย์แผนไทย โดยทีมผู้ผลิตละครหมอหลวง โดยมี นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เข้าเสวนาเสวนาร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ผู้จัด ผู้กำกับ และนักแสดงจากละครหมอหลวง โดยมี เซน เมจกา สุพิชญางกูร เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ว่า “ขณะนี้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด (2564) สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศกว่า 312,827 ล้านบาท และในปี 2566 วธ.จะดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ความนิยมไทยของประเทศไทย โดยสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลกว่า 971.55 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 58.25 ล้านบาท โครงการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 893.41 ล้านบาท และโครงการด้านการต่างประเทศ 19.88 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่ได้รับงบประมาณเพื่อร่วมส่งเสริม Soft Power ของประเทศไทย ในมิติต่างๆ อีกจำนวนไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมไปสู่ตลาดต่างประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชนและประเทศได้อย่างต่อเนื่อง”
ทางด้าน นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซีเวิล์ด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ละครหมอหลวง ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยความนิยมนั้นนอกจากความสนุกสนานของละครแล้ว ละครยังสร้างกระแสความภาคภูมิใจให้กับคนไทย และความสนใจในเรื่องของสมุนไพรและแพทย์แผนไทยให้เกิดขึ้นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เห็นว่าโอกาสนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการจัดงานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการผลักดันอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ให้เป็นแกนหลักในการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป”