กรมสุขภาพจิต เผยสภาพจิตใจเด็กนักเรียนและครูโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เครนก่อสร้างถล่ม มีสภาพจิตใจดีขึ้นมาก สามารถปรับตัวกลับมาเรียนและทำงานได้ตามปกติ ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทพร้อมลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 5 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการติดตามดูแลสภาพจิตใจของนักเรียนและครูโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ จากเหตุการณ์เครนก่อสร้างได้ถล่มใส่ในโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ แขวงบางรัก เขตบางรัก กทม. จนทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการวางแผนการดำเนินงานติดตามช่วยเหลือดูแลจิตใจเด็กและครูอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประกอบด้วย สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ร่วมออกหน่วยลงพื้นที่กับศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา ซึ่งจากการที่ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทได้ลงพื้นที่เข้าไปในโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และได้มีการคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้นกับเด็กนักเรียนและครู พบว่า เด็กและครูมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นมาก สามารถปรับตัวกลับมาเรียนและทำงานได้ตามปกติแล้ว โดยมีครอบครัวให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนทางทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทได้ช่วยเหลือดูแลจิตใจร่วมด้วย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในกลุ่มครู ทางทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทได้มีการประเมินคัดกรองภาวะเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือที่เรียกว่า ภาวะพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder : PTSD) พบว่า กลุ่มครูส่วนใหญ่ มีความเครียดน้อย-ไม่เครียด ร้อยละ 87 โดยมีการให้ความรู้ทางด้านสุขภาพจิต ในเรื่องปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์รุนแรง และกลุ่มครูที่มีความเครียดปานกลาง-มากที่สุด ร้อยละ 13 ได้ทำกลุ่มบำบัด เพื่อให้ครูได้รับความรู้ทางด้านสุขภาพจิต และได้ให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ (Psychological First Aid : PFA) เพื่อลดความเครียดให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งนี้ ครูที่มีความเครียดมาก ได้ให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลแล้ว เพื่อให้สามารถปรับตัวก้าวผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจในระยะยาว
นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต โดยทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ได้มีการวางแผนเพื่อดูแลจิตใจเด็กนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงพื้นที่เพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อภาวะเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญของนักเรียนชั้น ม.1 – ม.6 ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และจะมีการให้การดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งลงทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) ให้นักเรียนและครูสามารถปรับตัวและฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ภายหลังที่พบกับเหตุการณ์วิกฤต สามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรค และกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติต่อไป