วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.30 น. ที่ห้อง 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้สัมภาษณ์แก่สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการงบประมาณ สำนักงบประมาณ เกี่ยวกับหัวข้อรายงานการศึกษา “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนอย่างยั่งยืน” ในประเด็นมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของหน่วยงาน เป้าหมายการพัฒนา แนวทางการพัฒนา วิธีการบริหารจัดการ ผลการดำเนินงาน ปัจจัยความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และแนวทางเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของหน่วยงานในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ผู้สัมภาษณ์โดย นายมงคล วุฒินิมิต ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยมี นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน และผู้แทนจากสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กองแผนงาน และสำนักงานเลขานุการกรม เข้าร่วมให้ข้อมูล
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นภารกิจหนึ่งตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมฯ พ.ศ.2552 ข้อ 2 ที่ให้กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์สังคมไทยที่นักวิชาการวิเคราะห์ว่า ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศไทยมีมานานแล้ว ปัจจุบันคนในประเทศ “รวยกระจุก จนกระจาย” เกิดความเหลื่อมล้ำในประเทศสูง ครัวเรือนส่วนใหญ่ในชนบทมีรายได้ต่อคนในครัวเรือนน้อย มีรายจ่ายมาก เกิดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ขณะที่รายได้ของกลุ่มคนจำนวนน้อย กลับมีมากติดอันดับโลก ทำให้มีสัดส่วนแตกต่างกันมาก นำมาซึ่งปัญหาด้านต่าง ๆ เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ รัฐบาลจึงนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ถ่ายทอดมาเป็นแผนแม่บทที่ 16 เศรษฐกิจฐานราก และกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม หมุดหมายที่ 7 , 8 , 9
ทั้งนี้ คำว่า เศรษฐกิจฐานราก คือ “ระบบเศรษฐกิจของครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น ที่มีความสามารถพึ่งตนเองได้ มีการพึ่งพาช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งสังคม ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน นอกจากนี้เศรษฐกิจชุมชนฐานราก ควรจะมีแนวทางการพัฒนาและการจัดการโดยชุมชนท้องถิ่นให้ครบวงจรมากที่สุด มีการค้นหา/สร้าง/พัฒนาทุนในชุมชน และกองทุนเงินที่เข้มแข็ง มีความรู้ในงานอาชีพ มีการผลิตพื้นฐาน การแปรรูป พัฒนาตัวผู้ผลิตผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการ การตลาด การผลิตอาหาร และความจำเป็นพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับคนในพื้นที่อย่างพอเพียง และพัฒนาต่อยอดเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือเป็นธุรกิจของชุมชน
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกรมการพัฒนาชุมชน มุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้าง/กลไกเศรษฐกิจชุมชนฐานราก และเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง มีความเข้าใจ สามารถพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม มีการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจระหว่างกัน และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในพื้นที่ เกิดการสร้างอาชีพครัวเรือน/ชุมชน และการกระจายรายได้ สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคของคนที่อยู่อาศัยในระดับชุมชน โดยมีเป้าหมาย คือ สร้างรายได้ของประชากรกลุ่มคนจน คนมีรายได้น้อย ให้เพิ่มขึ้นอย่างกระจายและอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จได้นั้น กรมการพัฒนาชุมชน ยึดหลักปรัชญาที่คนในหน่วยงานยึดมั่นในการปฏิบัติงานว่า คนทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน และคนทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ถ้าให้โอกาส ทำให้มีบุคลิกลักษณะการทำงานในท่าทีที่เป็นมิตร เสมือนเป็นลูกเป็นหลาน เป็นญาติพี่น้องกับประชาชนทุกระดับในชุมชน และกรมการพัฒนาชุมชน มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และยังมีพัฒนากรประจำตำบล ทำให้อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในอนาคต มีแนวทางปฏิบัติในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติราชการกรมการพัฒนาชุมชน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)
เรื่องที่ 2 การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง เป็นแนวทางการพัฒนา ได้แก่ การสร้างและพัฒนากลไกขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชน, หนุนเสริมเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยกลไกประชารัฐและรวมกลุ่มผู้ประกอบการในชุมชน , สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ในชุมชน และส่งเสริมช่องทางการตลาด, ยกระดับชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อเศรษฐกิจชุมชนอย่างครบวงจร, ปรับระบบบริหารจัดการทุนชุมชนให้มีธรรมาภิบาล เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนให้พึ่งตนเอง , และการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยระบบปฏิบัติการเชิงรุกที่เข้าถึงประชาชนรายครัวเรือน โดยมีเป้าหมาย ที่เป็นเข็มมุ่งสำคัญ คือ มุ่งหวังให้เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคง คนในชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี