กรมทะเลชายฝั่ง พบปะเครือข่ายทางทะเล ครั้งที่ 8 กระบี่-ภูเก็ต “เสริมกำลังภาคีเครือข่าย ร่วมพิทักษ์รักษาทะเลอันดามัน”

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่มีความงดงามและอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ภูเขา หรือทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลของประเทศไทย อันเป็นสถานที่ในฝันของใครหลายๆ คน ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาสัมผัสความงดงามให้ได้ ทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามันจึงได้ชื่อว่าเป็นทะเลที่มีความสวยงาม น้ำทะเลใสสะอาด ระบบนิเวศในท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การดำน้ำดูปะการังและปลาสวยงามหลากหลายสายพันธุ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ทะเลและชายฝั่งให้ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนบูรณาการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ กรม ทช. จึงเลือกพื้นที่จังหวัดกระบี่เป็นสถานที่จัดประชุมภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 8 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการนำมาพัฒนาความรู้ในทางนโยบาย ระเบียบ กฎหมาย ข้อมูลระดับพื้นที่ สภาพระบบนิเวศ แหล่งทรัพยากร การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของชุมชน อีกทั้งเป็นฐานข้อมูลสำหรับพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมกันนี้ ตนได้มอบนโยบายการดำเนินงานแก่เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล โดยมีนายวิษณุ แจ้งใจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (กระบี่) พร้อมด้วย ดร.แสงจันทร์ วายทุกข์ ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย และ นายสุธีย์ ปานขวัญ ประธานกลุ่มองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่ง ม.3 ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ ตลอดจนนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากกรม ทช. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และภูเก็ต เข้าร่วมประชุม จำนวน 150 คน ณ ห้องประชุม NAGA BALLOON โรงแรมรามาดา ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

จากการรายงานของกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่ายพบว่า ในปัจจุบันจังหวัดกระบี่มีเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง จำนวน 39 กลุ่ม/752 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล จำนวน 810 คน ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีเครือข่ายชุมชนชายฝั่งจำนวน 24 กลุ่ม/514 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลจำนวน 953 คน โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือและดำน้ำ ผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ท การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าชายเลน และแปรรูปอาหารทะเล นอกจากนี้ กลุ่มเครือข่ายชุมชนชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ จำนวน 16 ชุมชน ได้รับมอบหนังสืออนุมัติโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน จากกรม ทช. ซึ่งได้มอบไว้ในงานวันป่าชายเลนแห่งชาติ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 โดยถือว่าเป็นครั้งแรกในการมอบหนังสืออนุมัติโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลยังเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพราะทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ของกรม ทช. มีไม่เพียงพอต่อการดูแล ดังนั้น ชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล นับเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก กรม ทช. จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่มีความสนใจและมีจิตอนุรักษ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ปกป้อง และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยสามารถเข้าไปสมัครได้ที่นี่ https://mr.dmcr.go.th/home และมาร่วมมือกันพิทักษ์รักษาทรัพยากรทางทะเลอันมีค่า สร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน เพื่อเครือข่ายที่มั่นคงตลอดไป “ นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวในที่สุด”

ด้าน นายวิษณุ แจ้งใจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (กระบี่) กล่าวว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของจังหวัดกระบี่และจังหวัดภูเก็ต นับเป็นทรัพย์ทางธรรมชาติสำคัญที่สร้างรายได้และหล่อเลี้ยงพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มุ่งหน้าเดินทางเข้ามาสัมผัสความงามของท้องทะเลอันดามัน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท โดยสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายชุมชนจังหวัดกระบี่และจังหวัดภูเก็ต ได้มีกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูในท้องทะเลหลากหลายกิจกรรม ทำให้ได้แสดงพลังความร่วมมือและเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ของเครือข่ายด้วยความรักและหวงแหนในทรัพยากรของตนเอง อีกทั้งขยายธุรกิจชุมชนให้เกิดเป็นฐานที่มั่นคง ผนวกกับการท่องเที่ยวทางทะเลที่ควบคู่กับการอนุรักษ์ เพื่อลดการคุกคามและทำลายทรัพยากรให้คงอยู่อย่างยั่งยืน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติ

สุดท้าย ตนขอขอบคุณพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในจังหวัดกะบี่และจังหวัดภูเก็ต ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานมาโดยตลอด และ ณ ปัจจุบัน ธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มขยายตัวดีขึ้น ตนอยากให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทุกคน ท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึกและดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีความสมบูรณ์ สวยงามเช่นนี้ ต่อไป