ผลกระทบของความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม ต่อการส่งออกสินค้าของไทย

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ผลกระทบของความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป – เวียดนามต่อการส่งออกสินค้าไทย (European Union-Vietnam Free Trade Agreement :EVFTA)

สหภาพยุโรปและเวียดนามได้ลงนามข้อตกลง EVFTA และข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนเวียดนาม-      สหภาพยุโรป (EU – Vietnam Investment Protection Agreement : EVIPA) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็น FTA ที่ “มีความทะเยอทะยานและมีขอบเขตครอบคลุมที่สุด”ที่สหภาพยุโรปเคยเจรจากับประเทศกำลังพัฒนา มีเนื้อหาทั้งการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน มีการลดภาษีกว่าร้อยละ 99 ของสินค้านำเข้าจากทั้งสองประเทศ เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ เวียดนามจะลดภาษีทันทีร้อยละ 65 ของสินค้าส่งออกจากสหภาพยุโรป และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 10 ปี สหภาพยุโรปจะลดภาษีทันที ร้อยละ 71 ของสินค้าส่งออกจากเวียดนาม และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 7 ปี สำหรับข้อตกลง EVIPA ที่ได้ลงนามในคราวเดียวกันจะช่วยให้เวียดนามพัฒนากรอบด้านการลงทุนและการใช้กฎหมาย ให้มีความโปร่งใส เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

คาดว่าสหภาพยุโรปจะใช้ความตกลง EVFTA เป็นต้นแบบในการเจรจากับไทย โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ เช่น การเปิดตลาดยา รถยนต์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การระงับข้อพิพาทในการลงทุน รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ

ผลจากการวิเคราะห์ พบว่า เมื่อความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้ อาจทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยใน
การแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปจากความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าไทย
เนื่องจากได้เปรียบจากข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้า อีกทั้งยังใช้สิทธิ GSP ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิไปแล้วตั้งแต่ปี 2558

เวียดนามคาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 508 ล้านคน มีมูลค่า GDP ประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นาย Tran Tuan Anh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีลงนามข้อตกลงดังกล่าว โดยได้คาดการณ์ว่า การส่งออกของเวียดนามไปสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4-6 เป็นมูลค่า 19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับการไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2571 โดยข้อตกลง EVFTA จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของเวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าประมงและสัตว์น้ำ

จากการวิเคราะห์ของ สนค. ตัวอย่างกลุ่มสินค้าที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่

ยานพาหนะและส่วนประกอบ เวียดนามมีการออกกฎหมาย Decree 116 หากรวมกับผลจากความตกลง EVFTA แล้ว ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยต้องพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปยังเวียดนาม รวมทั้งควรเร่งปรับตัววางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทักษะด้านแรงงาน ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเครื่องนุ่งห่ม ความตกลง EVFTA จะเอื้อประโยชน์ให้แก่สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามเข้าสู่ตลาดยุโรปมากขึ้น เวียดนามยังได้เปรียบไทยในด้านค่าจ้างแรงงานที่มีราคาต่ำกว่า และมีแรงงานจำนวนมาก ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มไทยต้อง นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย การใช้เส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ รวมทั้งการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้นด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ (online)ข้าว ไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านการเป็นที่รู้จักและการได้รับการยอมรับในคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย จึงควรมีการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป และการประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ให้สามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกข้าวที่มีราคาสูง รวมทั้งสำหรับตลาด niche เช่น ข้าวอินทรีย์และข้าวสีต่างๆ รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น บล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในอาหารให้แก่ผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาหมึก เวียดนามมีการคาดการณ์ว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของเวียดนามปี 2562 จะมีแนวโน้มเติบโตสูงมากจากความตกลง EVFTA ผู้ประกอบการไทยจึงควรเข้าใจแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวยุโรป พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาด ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรทางทะเลและการทำประมงอย่างถูกกฏหมาย อัญมณีและเครื่องประดับ ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในยุโรป คือ เยอรมนี และยังเป็นตลาดที่สามารถขยายตัวได้ ผู้ประกอบการไทยต้องเข้าใจถึงสภาพตลาดและติดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคยุโรป เพื่อที่สามารถออกแบบและส่งออกสินค้าได้ตรงกับความต้องการ โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีจุดแข็งด้านฝีมือของช่างผู้ผลิตและคุณภาพของสินค้า

ในขณะเดียวกันเวียดนามก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย การที่สินค้าจากสหภาพยุโรปได้เปรียบจากข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนาม อาจทำให้สินค้าไทยบางรายการแข่งกับสหภาพยุโรปในตลาดเวียดนามได้ลดลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ก่อนที่ความตกลง EVFTA จะมีผลบังคับใช้ เวียดนามถูกจัดอันดับโดยธนาคารโลกให้อยู่ในกลุ่มที่มี GNI per capita ระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ (Lower middle income) จึงได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากสหภาพยุโรป ดังนั้น นักลงทุนจากต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามก็สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้ อย่างไรก็ดี สนค. ได้วิเคราะห์รายได้ประชาชาติต่อหัวของเวียดนามจากข้อมูลในอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า เวียดนามจะเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income) ในช่วงปี 2569-2573 (7 – 11 ปี ข้างหน้า) จึงคาดการณ์ได้ว่า เวียดนามมีความเป็นไปได้ที่จะถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษ GSP ในอนาคต

สถิติการค้าระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป ระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2560  มีแนวโน้มมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2560 มูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 11.60 มูลค่าการค้ารวม เท่ากับ 50,430.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออก มีมูลค่า 38,298.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.55  การนำเข้า มีมูลค่า 12,132.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.73 โดยเวียดนามเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 26,166.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับไทย ภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ปี พ.ศ. 2557 – 2560 มีแนวโน้มมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน แต่ในปี 2558 มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในปี 2560  มีมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 10.96 มูลค่าการค้ารวม เท่ากับ 44,537.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออก มูลค่า 23,712.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.04 การนำเข้า มีมูลค่า 20,825.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.47 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 2,887.48 ล้านเหรียญสหรัฐ

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) คาดการณ์การเติบโตมูลค่า GDP รวม ของเวียดนาม  ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 6.8 ส่วนไทย อยู่ที่ร้อยละ 3.9  และ The Economist Intelligence Unit (EIU) มีการคาดการณ์มูลค่า GDP ของเวียดนาม ในสาขาการผลิต ปี 2562 ภาคการเกษตร มีการเติบโตของมูลค่า GDP อยู่ที่ ร้อยละ 2.8 และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 7.4  ในส่วนของภาคบริการ ร้อยละ 7.9 สำหรับไทยในสาขาการผลิต ภาคการเกษตร มีการเติบโตของมูลค่า GDP อยู่ที่ ร้อยละ 1.8 และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 4.3  ส่วนภาคบริการ ร้อยละ 3.2

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินการติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การค้า และการส่งออกของไทยจากความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการทุกภาคส่วนของไทย

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

กรกฎาคม 2562