กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเกณฑ์มาตรฐานวัดรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อสร้างมาตรฐานในการดำเนินงานวัดรอบรู้ด้านสุขภาพ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า พระสงฆ์เป็นผู้มีความสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนา พัฒนาการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนาสังคม ท้องถิ่น ชุมชน อันเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชน ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง สิ่งแวดล้อมภายในวัดและขยายผลสู่การพัฒนา สุขภาวะของชุมชน จากข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ พบว่าพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือดและภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเกิดจากอาหารที่ใส่บาตรทำบุญของประชาชนที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพของพระสงฆ์ นอกจากนี้พระสงฆ์มีพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง และขาดการ ออกกำลังกายที่เหมาะสม หากไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจะกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ จากสถานการณ์สุขภาพพระสงฆ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพพระสงฆ์ซึ่งสอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคม ที่ 191/1460 และมติสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 5 ให้มีการขับเคลื่อนงาน “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”
“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินงาน วัดส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีวัดส่งเสริมสุขภาพทั่วประเทศ จำนวน 4,191 แห่ง นอกจากนี้ได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานวัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) เพื่อสร้างมาตรฐานในการดำเนินงานวัดรอบรู้ด้านสุขภาพ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ ต่อเนื่องมาจาก การดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพและการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก โดยปี 2561 กรมอนามัยได้พัฒนาหลักสูตร พระคิลานุปัฏฐาก และมีจำนวนพระคิลานุปัฏฐาก จำนวน 3,918 รูป ซึ่งเกิดการขับเคลื่อนกลยุทธ์การขับเคลื่อน วัดรอบรู้ด้านสุขภาพจากนโยบายสู่การปฏิบัติ และเกิดการพัฒนาระบบการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ โดยนำประสบการณ์การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพมาปรับใช้และเป็นต้นแบบทำให้พระสงฆ์มีสุขภาพแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง โดยยึดหลักการสำคัญ คือ การใช้ทางธรรมนำทางโลกตามคำประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 เป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ในทุกระดับและส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคมต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ