กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันนโยบาย อาหารไทย อาหารโลก รองรับความต้องการอาหารของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยใช้หลัก รัฐหนุน เอกชนนำ ลดอุปสรรคในการส่งออกให้มากที่สุด และส่งเสริม ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและชื่นชอบอาหารไทย พร้อมทั้งมอบหมายให้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2023 ร่วมกับหอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ่ เยอรมนี ตั้งเป้าผู้เข้าชมงานกว่า 95,000 คนจากทั่วโลก มาเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มของไทย คาดเงินสะพัดกว่า 70,000 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร คือ การเติบโตของจำนวนประชากรโลกที่คาดการณ์กันว่าจะมีจำนวนเพิ่มจาก 8,000 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 10,000 ล้านคน ภายในปี 2593 ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวย่อมจะส่งผลต่อความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่าง ๆ จึงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าหลายประเทศจะมีนโยบายการพึ่งพิงอาหารภายในประเทศ (Food Self – Sufficiency) แต่เมื่อพิจารณาแนวโน้มจำนวนประชากร ก็คาดว่าจะไม่เพียงพอ
“ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมอาหารที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญมากมาย เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ มันสำปะหลัง และยังมีความสามารถในการแปรรูป สามารถคิดค้นนวัตกรรมทางด้านอาหาร มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย คำนึงถึงความยั่งยืน อีกทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ คือ มีศักยภาพในการส่งออก จนได้ชื่อว่าเป็น ครัวของโลก (Kitchen of the World) ประกอบกับการผลักดันนโยบาย อาหารไทย อาหารโลก ของกระทรวงพาณิชย์ จึงทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 15 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกถึง 1.36 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.7% จากปีก่อน” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของการส่งออกอาหารไทยเกิดจากนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่เข้าไปดูแลสนับสนุนการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้หลัก รัฐหนุน เอกชนนำ ให้เอกชนเป็นทัพหน้า ส่วนรัฐเป็นผู้สนับสนุน เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการส่งออกให้มากที่สุด ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ เพื่อให้รัฐกับเอกชนจับมือร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในการส่งออก และร่วมกันแก้ปัญหาเชิงรุก เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขและสำเร็จลุล่วงโดยเร็ว
นโยบายที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่อง คือ การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) อาหารไทย เพื่อทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและชื่นชอบอาหารไทยที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการสินค้าและบริการของไทยมากขึ้น โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง
“การจัดงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2023 ถือเป็นการเน้นย้ำให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะการเป็นฮับ (Hub) อาหารไทย อาหารโลก และเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก งานนี้จะเป็นเวทีสำคัญแห่งปีที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะ เจรจาการค้า ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้นำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งปีนี้กลับมาจัดแบบ On Site อย่างยิ่งใหญ่เหมือนก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกัน มีการจัดงานผ่านช่องทางออนไลน์ THAIFEX Virtual Trade Show เพื่อรองรับผู้ที่ต้องการความสะดวก ไม่ต้องเดินทาง ให้สามารถเข้าเยี่ยมชมงานได้” นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2023 ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ารวมกว่า 3,000 บริษัท จากทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ประมาณ 6,000 คูหา จากกว่า 40 ประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 95,000 ราย จาก 140 ประเทศทั่วโลก สามารถสร้างมูลค่าทางการค้าทั้งงานในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ได้กว่า 70,000 ล้านบาท ให้กับเศรษฐกิจไทย