ปลัดบุญชอบส่งอธิบดีบุปผา ลงพื้นที่ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการเข้าใช้ประโยชน์เครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มศักยภาพแรงงานเมืองปากน้ำโพ

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เยี่ยมชมการพัฒนาทักษะแรงงาน สพร.8 นครสวรรค์ เผยเครื่องมือ-เครื่องจักรพร้อมฝึกทักษะแรงงาน หนุนผู้ประกอบกิจการในพืันที่ รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานมีนโยบายด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ต้องตอบสนองความต้องการในพืันที่ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัด เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับแรงงานในพื้นที่ การเยี่ยมชมสถานที่จริงและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการโดยตรงจะช่วยให้สามารถกำหนดแนวทางการบริหารงานและปรับบทบาทการทำงานของกรมได้เป็นอย่างดี ในครั้งนี้ได้เยี่ยมชมและรับฟังผลการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 8 นครสวรรค์ (สพร.8 นครสวรรค์) พร้อมให้กำลังใจผู้เข้าฝึกอบรมด้วย ซึ่งพบว่า สพร. 8 นครสวรรค์ มีศักยภาพในการพัฒนาทักษะให้กับกำลังแรงงาน มีความพร้อมทั้งสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์และบุคลากรฝึก

นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า จากผลการดำเนินงานของ สพร.8 นครสวรรค์ พบว่ามีการบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานภายในจังหวัด จึงสามารถพัฒนาทักษะให้แรงงานได้สูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับหลายโครงการ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน ตามมาตรา 26 ล่าสุดร่วมกับ บริษัท ดับบลิวเอ็มไอ ไวร์เมช จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายตะแกรงเหล็ก ไวร์เมช ใช้ในงานคอนกรีตต่างๆ จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพ จำนวน 2 สาขา ได้แก่ สาขาพนักงานฝ่ายผลิต (โรงรีด) ระดับ 1 และสาขาพนักงานฝ่ายผลิต (โรงทอ) ระดับ 1 ซึ่งทั้ง 2 สาขาได้รับการรับรองจากกรมเรียบร้อยแล้ว และได้นำมาใช้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่พนักงานและลูกจ้าง ทำให้บริษัทได้ทราบว่าแรงงานมีทักษะความรู้อยู่ในระดับมาตรฐานที่บริษัทกำหนดไว้หรือไม่ กรณีที่ต่ำกว่าเกณฑ์ จะได้วางแผนในการพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท จากการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพอีกด้วย

การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพและได้นำมาตรฐานดังกล่าว ไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตน เป็นมาตรการหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่สถานประกอบกิจการ ภายใต้พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ 2557 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงานของประเทศ เนื่องจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานไม่สามารถดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือเพียงหน่วยเดียวได้ จำเป็นต้องมีหลายภาคส่วนมามีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว

“สำหรับผู้ประกอบกิจกาจที่สนใจจัเส่งพนักงานเข้าอบรมหรือต้องการจัดทำมาตรฐานฝีมือ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีบุปผา กล่าวทิ้งท้าย