ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +1.19%ท่ามกลางความหวังการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่มีโอกาสจะบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกใหญ่ อย่าง Walmart +1.3% ที่ออกมาดีกว่าคาด กอปรกับ รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและต่อเนื่องก็ลดลงจากสัปดาห์ก่อน (ดีกว่าคาด) ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.39% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มยานยนต์ (Porsche +2.5%, BMW +2.4%) ตอบรับบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง จากความหวังว่าการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ อาจประสบความสำเร็จได้ภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป ยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งยังคงออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.65% ซึ่งเป็นการปรับตัวทะลุโซนแนวต้านแถว 3.60% ที่เราเคยประเมินไว้ ซึ่งเรามองว่า แม้โมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังพอมีอยู่บ้าง แต่การปรับตัวขึ้นอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงรอจังหวะในการเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ (รอ Buy on Dip)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตอบรับกับความหวังการเจรจาขยายเพดานหนี้ที่อาจบรรลุข้อตกลงได้ภายในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มเชื่อว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้และเฟดอาจคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ซึ่งล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.5 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,961 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงใกล้โซนแนวรับหลักแถว 1.950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากหลุดโซนแนวรับช่วง 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรายังคงมองว่าการปรับฐานของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เช่นกัน หลังล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ไม่ยาก

ส่วนในฝั่งไทย ปัจจัยการเมืองในประเทศ อย่าง ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลอาจเป็นประเด็นที่กดดันตลาดการเงินไทยได้ในช่วงนี้ ซึ่งเรามองว่า มีโอกาสที่ปัจจัยการเมืองจะมีผลต่อตลาดไปอีกราว 2 เดือน ซึ่งความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลของไทย อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้แนวต้านสำคัญ 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

เราคงมองว่า ในระยะสั้น โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งจากภายในประเทศอย่างความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของไทย ส่วนปัจจัยภายนอก อย่าง เงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่ หลังความเสี่ยงการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ดูจะคลี่คลายลงได้เร็วกว่าที่เราคาด (เดิมเรามองว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง หากตลาดกังวลปัญหาเพดานหนี้) อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มปรับมุมมอง (reprice) แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาทองคำใกล้แนวรับหลัก ก็ทำให้ เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากปัจจัยภายในไม่ได้น่ากังวลมากนัก แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มลดลง เนื่องจากสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงของไทย โดยนักลงทุนต่างชาติได้ลดลงต่อเนื่องในปีนี้พอสมควร ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมีมุมมองคาดว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ในระยะกลางและระยะยาว ก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงในการเพิ่มสถานะ Long THB เช่นเดียวกันกับ บรรดาผู้ส่งออกก็อาจรอจังหวะในการทยอยขายเงินดอลลาร์ ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในระยะนี้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์