กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เริ่มการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 สาขาการสร้างโมเดลในเกมสามมิติ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดเยาวชนแข่งขันในเวทีอาเซียน
วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม กรุงเทพมหานคร นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้ นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 สาขา การสร้างโมเดลในเกมสามมิติ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม และคณะ ให้การต้อนรับ ซึ่งหลังจากพิธีเปิดดังกล่าว นายพิเชษฐ์ เปิดเผยว่า การแข่งขันสาขาการสร้างโมเดลในเกมสามมิติ มีมหาวิทยาลัยส่งน้อง ๆ เยาวชนเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 9 แห่ง รวม 15 คน มีอายุระหว่าง 18-20 ปี มหาวิทยาลัยที่จัดส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับด้านเกมส์ และ Animation นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยศรีปทุมยังมีการจัดฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม ประมาณ 2 เดือน
นอกจากสาขานี้ ยังมีการจัดการแข่งขันสาขาอื่น ๆ อีก 25 สาขา ใน 6 กลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย 1. กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้างและอาคาร 2. กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีการสื่อสาร 3. กลุ่มสาขาอาชีพแฟชั่นและครีเอทีฟ ซึ่งสาขาการสร้างโมเดลในเกมสามมิติ เป็นอีกหนึ่งสาขาในกลุ่มนี้ด้วย 4. กลุ่มสาขาอาชีพบริการส่วนบุคคลและสังคม 5. กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต และ 6. กลุ่มสาขาอาชีพขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมีสนามแข่งขัน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ วิทยาลัยการแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ทั้งนี้ จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานในพิธีเปิด
นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยศรีปทุมได้จัดส่งตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีระดับโลกหรือระดับนานาชาติ ครั้งที่ 46 ที่สาธารณรัฐเกาหลี และสามารถคว้าเหรียญรางวัลฝีมือยอดเยี่ยมมาได้ คือนายเจษฎาภรณ์ แก่นนอก ซึ่งได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้านเทคนิคของการแข่งขันด้วย อันเป็นผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เยาวชนไทยไม่เป็นรองใครในเวทีระดับโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบในด้านพื้นฐานที่ดีในการออกแบบ และการสร้างสรรค์ผลงาน ประกอบกับการมีสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น และบุคลากรผู้สอนที่มีคุณภาพ และความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งในอนาคตสาขาดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการเป็นจำนวนมาก สำหรับเยาวชนที่ชนะการแข่งขันจะได้ไปแข่งขันต่อในการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในเดือนกันยายน 2567 เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนไทยได้แสดงทักษะฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกต่อไป รองอธิบดีพิเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย