สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการฝึกซ้อมจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระดับภูมิภาคในหัวข้อ Multilateral Virtual Engagement on Radiological Dispersal Device (RDD) Emergency Medical Response และการฝึกซ้อมจำลองสถานการณ์บนโต๊ะ (Tabletop Exercise: TTX) ร่วมกับสหรัฐอเมริกา ภายใต้รหัสการฝึก “ราชพฤกษ์” เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ในการรับมือต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โดยเน้นย้ำถึงจุดยืนในการส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และสนับสนุนความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ
ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 นายภานุพงศ์ พินกฤษ วิศกรนิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการกองตรวจสอบทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับมอบหมายจาก นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานร่วมเปิดการฝึกซ้อมจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในระดับภูมิภาคในหัวข้อ Multilateral Virtual Engagement on Radiological Dispersal Device (RDD) Emergency Medical Response ร่วมกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้รหัสการฝึก “ราชพฤกษ์ หรือ “Ratchaphruek Exercise” โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ ปส. จำนวนกว่า 70 คน ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 16 – 18 พฤษภาคม 2566 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความรู้ความเข้าใจ และขีดความสามารถในการตอบสนองทางการแพทย์ฉุกเฉิน กรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมถึงเหตุการณ์ที่อาจเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงในการก่อเหตุด้านความมั่นคงปลอดภัยนิวเคลียร์ โดยเฉพาะประเด็นด้านการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์และทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
นายภานุพงศ์ กล่าวต่อไปว่า การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้ร่วมกันวางแผนและฝึกซ้อมการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินและบรรเทาเหตุจากสถานการณ์จำลองที่เกิดจากนำเอาวัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์ไปใช้ในการก่อการร้าย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อมจะสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี นอกจากนี้ ปส. ยังจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี อาทิ อุปกรณ์ตรวจวัดทางรังสี หุ่นยนต์ประเมินระดับรังสีและเก็บกู้วัสดุกัมมันตรังสี เครื่องบินไร้คนขับเพื่อประเมินผลกระทบทางรังสี เครื่องตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสี รวมถึงนำเสนอแนวทางและความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขภายในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมพร้อมและการตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กองตรวจสอบทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 3104 , 3107