นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.64% ท่ามกลางแรงกดดันจากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายนที่ขยายตัว +0.4%m/m แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ +0.8% ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ อย่าง Home Depot -2.2% ก็ออกมาน่าผิดหวัง กดดันให้หุ้นกลุ่มค้าปลีกส่วนใหญ่ต่างปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง จนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.42% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว ตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนพฤษภาคม ที่ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มที่พึ่งพายอดขายจากจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -0.6%) และกลุ่มยานยนต์ (Porsche -1.8%) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนล่าสุดก็ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ไม่ได้แข็งแกร่งตามคาด
อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่มุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ ECB ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ในหลายตลาดต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +7bps สู่ระดับ 3.54% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ได้ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัว sideway ใกล้โซนแนวต้านแถว 3.50%-3.60% ในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดและธนาคารกลางหลักอื่นๆ
ในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทว่าถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อ หรือบางท่านก็ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 102.5 จุด อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปมาก หากตลาดกลับมากังวลปัญหาการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการคงนโยบายการเงินที่เข้มงวดและตึงตัวของเฟด ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,993 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับฐานของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับฝั่งผู้นำสภาผู้แทนฯ ของพรรครีพับลิกัน หลังรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเจเนต เยลเลน ได้ย้ำว่ารัฐบาลและสภาคองเกรสควรหาทางออกปัญหาเพดานหนี้ให้ทันก่อนที่สหรัฐฯ อาจเผชิญความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้
ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB
ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินไทยในระยะสั้นนี้ได้ หลังล่าสุดบรรดาวุฒิสภาต่างออกมาให้ความเห็นที่ไม่ชัดเจนต่อการสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงทะลุแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้เป็นแนวต้านแรก ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
เราคงมองว่า ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลผสม จะยังคงเป็นปัจจัยที่อาจกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้ในระยะสั้นนี้ ซึ่งสวนทางกับสถิติในอดีตที่เงินบาทมีโอกาสถึง 80% ในการแข็งค่าขึ้นราว +1.5% ในช่วง 1 เดือนหลังการเลือกตั้ง (ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง มักจะได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ เพียงพรรคเดียว) โดยความกังวลต่อปัญหาการเมือง ได้สะท้อนผ่านฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเป็นฝั่งขายสุทธิหุ้นไทย อย่างไรก็ดี เรามองว่า บรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติอาจยังคงมุมมองเดิมที่คาดว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้ผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวอาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงในการเพิ่มสถานะ Long THB ซึ่งข้อมูลผลสำรวจสถานะการถือครองเงินบาทของ Reuter ล่าสุด ก็สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยเพิ่มสถานะ Long THB มาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน ทำให้เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแรกแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่เราคงมองว่า เงินบาทจะยังมีโซนเส้นค่าเฉลี่ย EMA50 วัน แถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญถัดไป
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.20 บาท/ดอลลาร์