13 พฤษภาคม 2566 / ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM พร้อมด้วย คุณกุลกิตต์ ชัยอำนวย ผู้แทนผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและสื่อมวลชน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานมอบรางวัลการประกวดในโครงการ University Students’ Science, Technology and Innovation Talk (UniTi Talks) รอบชิงชนะเลิศ เวทีสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ ระดับอุดมศึกษา ผลปรากฏว่า นางสาวหทัยธนิต ธงทอง นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ในหัวข้อ “Ride the green wave: รถกระป๊อ transformed into electric carpool heroes” ณ ห้องประชุม IT Auditorium พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ NSM คลองห้า จ.ปทุมธานี
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เผยว่า “โครงการ University Students’ Science, Technology and Innovation Talk (UniTi Talks) ปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “UniTi Talks on STI for Sustainable Community ฉากทัศน์ชุมชนที่ฉันอยากเห็น ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนิสิต นักศึกษา มาร่วมพัฒนาทักษะและการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ ในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจำนวน 23 คน จากทั่วประเทศ ”
“ขอแสดงความยินดีแก่เยาวชนทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ รวมทั้งผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนที่ได้มานำเสนอ และมาปลดปล่อยพลังความสร้างสรรค์ ได้มองเห็นปัญหาของสังคมและหาวิธีการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน หวังว่าประสบการณ์จากเวทีนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ได้เดินต่อในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้สังคมเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพทั้งชีวิตและสังคมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศในอนาคต” ดร.กรรณิการ์ กล่าว
คุณกุลกิตต์ ชัยอำนวย ผู้แทนผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและสื่อมวลชน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ University Students’ Science, Technology and Innovation Talks (UNiTi Talks) เกิดจากการผนึกกำลังความร่วมมือกันระหว่าง NSM สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลและวัฒนธรรมอเมริกัน (American Corner) 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG Move) ถือเป็นกิจกรรมที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาฯ ให้ความสำคัญเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในอนาคต ผ่านการสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางที่ดีขึ้น และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล ถือว่าเวทีนี้จะช่วยสร้างเครือข่ายของกลุ่มนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และพร้อมจะสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อให้ก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยในอนาคต”
น้องเพิร์ล นางสาวหทัยธนิต ธงทอง นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ปี 3 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คว้าแชมป์ในการแข่งขันฯ เผยความรู้สึกว่า “ตอนแรกรู้สึกกังวัลเพราะเราไม่ได้เรียนสายวิทย์ และไม่ใช่ศาสตร์ที่เราถนัดแต่เราเชื่อว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสื่อสารได้ และการได้เข้าค่ายฝึกทักษะการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ (Boost Camp) ทำให้เราได้รับความรู้และทักษะด้านการสื่อสารจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านและได้นำมาใช้ในการแข่งขัน โดยวันนี้ได้นำเสนอในเรื่องของการนำรถกระป๊อมาทำให้เป็น EV CAR เพื่อแชร์กันในชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เราได้รับรางวัลครั้งนี้คือการเตรียมสไลด์พรีเซนเทชั่นให้มีความน่าสนใจ ทำให้คนเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งการสื่อสารหรือพูดให้คนฟังคล้อยตามไปกับสิ่งที่เราพูด”
น้องวินนี่ นายภูวนนท์ ชัยชนะอุดมกุล คณะทันตแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรันครินทรวิโรฒ ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในหัวข้อ “เชื่อหรือไม่? ปี 2030 กรุงเทพฯ จะไม่มีน้ำท่วมแล้ว…” เผยว่า “คิดว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่สำคัญองค์ประกอบหลักคือการเป็นตัวเอง ถึงแม้ว่ารายละเอียดข้อมูลเราเตรียมมาอย่างดีแต่ถ้าขาดความเป็นตัวเองก็จะดูไม่น่าสนใจได้ ซึ่งโครงการนี้ทำให้เราได้ลองมองว่าปัญหาไหนในสังคมที่สามารถแก้ไขได้และจะแก้ไขได้อย่างไรเพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในอนาคต”
ด้าน น้องครีม นางสาวปวันพัสตร์ เล่นทัศน์ คณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในหัวข้อ “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง” เผยความรู้สึกว่า “สำหรับเทคนิคการสื่อสารคือการเป็นตัวของตัวเอง และสามารถนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ ประสบการณ์จากการฝึกซ้อม และจากสิ่งที่เคยลงมือทำในแต่ละครั้ง ค่อย ๆ หล่อหลอมทำให้มีวันนี้ได้ ซึ่งโครงการนี้ช่วยให้เราได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในเวทีของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญคือได้รู้จัก พี่ ๆ และเพื่อน ๆ รวมทั้งวิทยากรในการมาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ทำให้เราได้เปิดกว้างด้านทัศนวิสัยของเรามากขึ้น”
ผลการแข่งขันการประกวดในโครงการ University Students’ Science, Technology and Innovation Talk (UniTi Talks) รอบชิงชนะเลิศ มีดังนี้
รางวัลชมเชย ได้แก่ น้องฟ้า นางสาวชนารัตน์ เต๊ะวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในหัวข้อ “ชุมชนหนองเสือ”
รางวัลชมเชย ได้แก่ น้องปอแก้ว นางสาวปิติภัทร เป็นตามวา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหัวข้อ “ถ้าฉันไม่ต้องปิดหน้าต่าง”
รางวัลชมเชย ได้แก่ น้องปราบปราม นายพงศพัศ พันโน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในหัวข้อ “a mask made from sugarcane leaves”
และรางวัลพิเศษเพื่อเติมพลังนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 2 รางวัล ได้แก่ น้องแต๊ก นายพงศกร รูสม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “ลมหายใจสุดท้าย” และ น้องพีพี นายพงศ์ตุลา รพีถวิลวรรณ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวข้อ “Microfluidic Platform สู่แลปที่มีในทุกบ้าน”