กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ “ขนุนหนองเหียงชลบุรี” เผยสร้างมูลค่าทางการตลาดปีละประมาณ 850 ล้านบาท ส่งออกไปต่างประเทศปีละ 106 ล้านบาท มั่นใจหลังขึ้นทะเบียน GI จะยิ่งช่วยผลักดันสินค้าเป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าและสร้างเงินให้ท้องถิ่นได้มากขึ้น
วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เวลา 9.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ขนุนหนองเหียงชลบุรี ซึ่งเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและท้องถิ่นที่ปลูกขนุน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้เพิ่มขึ้น
สำหรับขนุนหนองเหียงชลบุรี มีลักษณะเป็นขนุนผลใหญ่ เปลือกบาง ซังน้อย ยวงใหญ่ เนื้อหนา แห้ง และกรอบ เนื้อมีสีเหลืองทอง สีเหลืองเข้ม สีเหลืองอมส้ม ไปจนถึงสีแดงอมส้ม รสชาติหวานกำลังดี มีกลิ่นหอมไม่แรงเกินไป เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งปลูกและผลิตในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยมีหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองประเสริฐ พันธุ์มาเลย์ พันธุ์เพชรราชา พันธุ์แดงสุริยา และพันธุ์ทองส้ม โดยสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนกว่า 850 ล้านบาทต่อปี และสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น จีนและเวียดนาม มูลค่าประมาณ 106 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย รวมแล้ว 185 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไม่ให้ถูกกดราคาสินค้าเกษตร โดยกรมฯ ตั้งเป้าสร้างมูลค่าการตลาดสินค้า GI ไทย สร้างเงินไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท