ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.83 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.72 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ (US Debt Ceiling) ที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงความกังวลปัญหาสภาพคล่องของบรรดาธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง หลังธนาคาร PacWest -22.7% รายงานยอดเงินฝากลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil -1.8%) หลังราคาน้ำมันดิบพลิกกลับมาปรับตัวลดลงกว่า -2.3% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะ Alphabet +4.3% ซึ่งได้เปิดตัว Search Engine ที่มี AI รุ่นปรับปรุง ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.17%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Equinor -4.1%) และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto -2.1%) ตามการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบและแร่โลหะ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +1.8%) หลังจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้ย่อตัวลงต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากรัฐบาลและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ได้ ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือบอนด์ระยะยาว กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.38% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับ 3.30%-3.40% ที่เราเคยประเมินไว้ โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้บ้าง หากการเจรจาขยายเพดานหนี้ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ซึ่งล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นยืนเหนือระดับ 102 จุด โดยผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลปัญหาสภาพคล่องของธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง และความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่แย่ลงกว่าคาด นอกจากนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการขายทำกำไรสกุลเงินฝั่งยุโรป โดยเฉพาะเงินปอนด์ (GBP) ในลักษณะ Sell on Fact หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงบ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขาย กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงกลับมาสู่ระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับอีกครั้ง

สำหรับวันนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจอังกฤษอาจขยายตัวเพียง +0.2%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประท้วงหยุดงานในช่วงเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ การเจรจาขยายเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และผู้นำสภาผู้แทนฯ พรรครีพับลิกัน ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง หลังจากที่การเจรจาในช่วงต้นสัปดาห์ประสบความล้มเหลว ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มการบริโภคของครัวเรือน นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เฟดติดตามเช่นกัน และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

แม้ว่า เงินบาทจะเริ่มเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น แต่ทว่า เรามองว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์นั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากความกังวลปัญหาเพดานหนี้ที่อาจทวีความร้อนแรงมากขึ้น มักจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อชัดเจน โดยดัชนี DXY อาจไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 102.5 จุด ไปได้ง่ายนัก (ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ได้บ้าง) อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในส่วนหุ้นที่ยังมีลักษณะขายลดความเสี่ยง ก่อนจะรับรู้ผลการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ เราประเมินว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าดังกล่าว โดยในส่วนปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่านั้น เรายังคงเห็นแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นบางส่วนในตลาดและบรรดาผู้ส่งออก หากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้าน นอกจากนี้ แม้นักลงทุนต่างชาติจะเป็นฝั่งขายสุทธิหุ้นไทย แต่ในส่วนตลาดบอนด์ เรายังคงเห็นแรงซื้อสุทธิบอนด์ โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเป็นการทยอยเพิ่มสถานะ Long THB ของผู้เล่นต่างชาติได้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.95 บาท/ดอลลาร์