นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยอาหารฝีมือคนไทย ชนะเลิศรางวัลเหรียญทองสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก จากสวิสเซอร์แลนด์

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารซีพีเอฟ (CPF RD Center) มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารต่อเนื่อง คิดค้น “ชุดตรวจสอบเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Listeria แบบครบวงจร” ขึ้น เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นความปลอดภัยอาหารระดับสากลให้คนไทยและผู้บริโภคทั่วโลก สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จากการประกวดประดิษฐกรรมและนวัตกรรม ในงานจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก the 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่จัดขึ้น ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ดร.สุดารัตน์ เล็ดลอด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้คัดเลือกชุดตรวจสอบย้อนกลับเชื้อในกลุ่ม Listeria monocytogenes ที่คิดค้นพัฒนาโดยทีมวิจัยอาหาร CPF RD Center เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในอาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว ให้เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ของคนไทยเข้าร่วมจัดแสดงในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน the 48th International Exhibition of Inventions Geneva จัดขึ้นโดยสมาพันธรัฐสวิส ในประเภท หัวข้อ Paramedical-Health – hygiene – food stuffs – drink – cosmetics และเป็นหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง รวมทั้งยังได้รับ “รางวัลนวัตกรรมโดดเด่น” (Distinguished Innovation Award) จาก King Abdulaziz University อีกหนึ่งรางวัล ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่สถาบันผู้มอบรางวัลมอบจะให้ผลงานที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ

นวัตกรรมนี้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ทางซีพีเอฟดำเนินการวิจัยและสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อร่วมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารเพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก ชุดตรวจสอบนี้สามารถใช้ตรวจติดตามและจำแนกเชื้อที่มีการปนเปื้อนในภาคการผลิต ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงงาน แสดงผลในรูปแบบระบบดิจิทัล หรือ DNA Barcode รวมถึงมีการจัดเก็บฐานข้อมูลของเชื้อในสายพันธุ์ย่อย เพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ ไปยังต้นตอของแหล่งพบเชื้อ ที่พบจากจุดปนเปื้อนต่างๆ ทำให้สามารถกำจัดเชื้อได้จากแหล่งต้นตอที่เกิดเชื้อ และป้องกันการเกิดปนเปื้อนซ้ำได้

“ชุดตรวจทวนสอบย้อนกลับเชื้อ Listeria monocytogenes เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ผลิตอาหารสามารถควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถวิเคราะห์และจัดการเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว ช่วยป้องกันและลดการปนเปื้อนของเชื้อแบครีเรียปนเปื้อนในอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.สุดารัตน์ กล่าว

งาน International Exhibition of Inventions Geneva จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 48 เป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในสหภาพยุโรป โดยมีนักประดิษฐ์/นักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน จากกว่า 40 ประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 10,000 คน และชุดตรวจสอบย้อนกลับเชื้อในกลุ่ม Listeria monocytogenes ของซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในผลงานจากประเทศไทยที่ วช. พิจารณานำเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้