วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน รับยื่นหนังสือจาก นายพานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ประสานภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และสมาชิกเกือบ 10 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงแรงงาน ขอให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบกรณีแรงงานต่างชาติก้าวล่วงและข้อเสนอแนะ โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมรับด้วย ณ บริเวณโถงชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน
นายบุญชอบ เปิดเผยว่า ในเรื่องนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันแรงงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรณีม็อบแรงงานต่างชาติเคลื่อนไหวเรียกร้อง “ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ” พร้อมชูป้ายยกเลิกมาตรา 112 นั้น และในวันนี้กลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ติดตามสถานการณ์และไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวของกลุ่มแรงงานต่างชาติ จึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการตรวจสอบ เร่งดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินคดีและให้สืบหาติดตามผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และผลักดันกลับประเทศโดยเร็วที่สุด ให้ตั้งคณะกรรมการเร่งติดตามสืบหาข้อเท็จจริงว่าแรงงานเหล่านี้ว่ามาจากไหนใครเป็นนายจ้าง และสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังใครเป็นผู้สนับสนุนคือกลุ่มใด มีนัยยะสำคัญที่มากกว่านี้หรือไม่ หรือแรงงานต่างชาติเป็นเหยื่อของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือไม่ และให้กระทรวงแรงงานมีขบวนการสื่อสารชุดความคิดไปยังแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทยให้เกิดความ เข้าใจว่าวิถีสังคมไทยเป็นอย่างไรและความสำคัญในการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอันเชิญหลักทรงงานศาสตร์พระราชาแนวทางปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพศักยภาพแรงงานและการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างไม่ขัดแย้ง
นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้ให้กรมการจัดหางานตรวจสอบข้อเท็จจริงและประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งเตือนไปยังแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกเชื้อชาติ พฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าวหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้แรงงานต่างชาติผู้นั้นจะมีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีความผิดตามกฎหมาย กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้น ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิกถอนสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต่อไปได้
นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้หากตรวจสอบพบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยกับนายจ้างโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน นอกจากมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว กรมการจัดหางานจะร้องทุกข์กล่าวโทษแก่แรงงานต่างชาติ ในความผิดฐานทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และดำเนินคดีกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติดังกล่าว ในความผิดฐานให้คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
“แรงงานต่างชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า กระทรวงแรงงานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือเพศ แต่ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว