ก.แรงงาน ขับเคลื่อน 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ 2566 กระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน

ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดงาน 10 พฤษภาคม “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ประจำปี 2566 กระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนให้เกิดความตระหนักรู้และมีจิตสำนึกที่ดีในการป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน พร้อมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จป.ผู้นำการสร้างสุขภาวะองค์กร

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดงาน 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จป.ผู้นำการสร้างสุขภาวะองค์กร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ว่า คณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้รุนแรง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งรณรงค์ให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้จัดกิจกรรม 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงานและกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจัง ทำให้รู้เท่าทันถึงอันตราย และทราบถึงแนวปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยให้เกิดกับคนทำงานในทุกอาชีพต่อไป

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงาน 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติในปีนี้ กรมฯ มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการทำงานในหลายรูปแบบ เช่น การจัดบูธกิจกรรมจากภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยในการทำงาน การปาฐกถาพิเศษจากวิทยากรภาครัฐและภาคเอกชน การมอบประกาศเกียรติคุณให้กับสถานประกอบกิจการต้นแบบ จำนวน 58 แห่ง ที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนสุขภาวะในสถานประกอบกิจการ (Happy Workplace) ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินการ รวมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจากการทำงาน (จป.) จากสถานประกอบกิจการต้นแบบ จำนวน 5 แห่ง ร่วมเสวนาเพื่อนำเสนอประสบการณ์และบทเรียนความสำเร็จให้กับผู้ร่วมงาน นำไปขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะในสถานประกอบกิจการและเกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยอย่างยั่งยืน