เลขาธิการ คปภ. ชูธงประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง InsurTech Startup Hub หวังเชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจ Startup – Tech firms เล็งบททวนกติกาเปิดทางคนรุ่นใหม่ หัวคิดเทคโนโลยี สู่เวทีการสร้างนวัตกรรมประกันภัย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ได้จัดงานสัมมนา InsurTech 2019 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจประกันภัย กลุ่มเทคโนโลยีประกันภัย และกลุ่มผู้บริหารธุรกิจด้านต่างๆ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย และนำนวัตกรรมมาต่อยอดธุรกิจประกันภัยของไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศ ตลอดจนช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านการประกันภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล
ในโอกาสนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา InsurTech 2019 พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “How to make Thailand to be an InsurTech startup Hub ?” โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมของธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัลมีความละเอียดและซับซ้อน จึงต้องหาวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านการประกันภัยด้วยการบริหารจัดการที่ดีและที่สำคัญต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีประกันภัย
สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยเห็นได้จากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 มีการจัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) เพื่อให้เป็นศูนย์รวมข้อมูลกลางแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีประกันภัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่ม Start-Up ที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดในการนำธุรกิจประกันภัยเชื่อมต่อเข้ากับเทคโนโลยี และการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวถือเป็นกลไกที่สำคัญในการทำให้เกิดนวัตกรรมประกันภัยใหม่ๆ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ที่ดีและอยู่ใจกลางภูมิภาคมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม และสามารถเชื่อมต่อไปยังกลุ่มประเทศข้างเคียง อันมีฐานประชากรรวมกันกว่า 230 ล้านคน ได้โดยสะดวก รวมถึงมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมระหว่างกัน ดังนั้นบทบาทของศูนย์ CIT ในอนาคตจึงจะไม่สามารถจำกัดอยู่ในบริบทภายในประเทศเท่านั้น โดยสำนักงาน คปภ. มีแผนที่จะยกระดับศูนย์ CIT ให้เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านการประกันภัยให้กับประเทศในกลุ่ม CLMV+T เพื่อจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Startup Hub เชื่อมโยงเครือข่ายกับภาคธุรกิจ Startup และ Tech firms ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อสร้าง ecosystem ให้บริษัทประกันภัย และ InsurTech ทั้งหลายได้มีเครื่องมือ และโอกาสในการทำงานต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และการบริการใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีประกันภัยระดับชาติ (National InsurTech Infrastructure) เพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (AI & Big Data) การบริการผ่านช่องทางใหม่ (New Channel) และการแบ่งปันและทำงานร่วมกัน (Open API & Collaboration) รวมทั้งการจัดตั้ง One stop service เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำให้แก่บริษัทประกันภัย และ Startup ในทุกมิติ รวมถึงเป็น mentor ทั้งก่อนและหลังการเข้าทดสอบ Sandbox รวมถึงเป็นผู้ช่วยในการจับคู่ธุรกิจ (Business matching)
ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างทบทวนกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ และ Startup ต่างๆ สามารถขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมได้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในวงจรการสร้างสรรค์นวัตกรรม ประกอบไปด้วยความต้องการที่จะทดสอบไอเดียใหม่ จนกระทั่งสามารถนำออกสู่ตลาด วัดผลตอบรับ และนำมาปรับปรุงสินค้าและบริการ สำนักงาน คปภ. จึงได้ริเริ่มการเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานภายในสามารถกำกับดูแลกระบวนการเหล่านี้ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่เข้มข้นหรือย่อหย่อนจนเกินไป เพื่อเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมประกันภัยสามารถรับเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม และความรู้ใหม่ๆ จากทั่วโลกเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโมเมนตัมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้พัฒนาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังมีภารกิจที่สำคัญ คือ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจประกันภัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นั่นคือ ระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (IBS) รวมถึงขยายขอบเขต Insurance Regulatory Sandbox เปิดโอกาสให้ Startup หรือ Techfirm ทำงานร่วมกับสำนักงาน คปภ. เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เล่นให้มากขึ้น และจะสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยมี Sandbox ของตนเอง หรือเรียกว่า Own Sandbox รวมไปถึงการพัฒนาระบบ OIC Gateway ที่เป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงข้อมูลของอุตสาหกรรมประกันภัย ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงาน คปภ. บริษัทประกัน และประชาชน ผ่าน Open API เพื่อให้การเชื่อมโยงและบริการข้อมูลมีความสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมประกันภัยใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ด้วยความรวดเร็ว พัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุนงานด้านคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย (Insured Right Protection Management System) จัดทำมาตรฐานกลางสำหรับการเขียนโปรแกรมผ่าน Web Service / Web Application / Mobile Application และพัฒนา Software จัดทำระบบตลาดกลางสำหรับการขายกรมธรรม์ ทางอิเล็กทรอนิกส์ (Insurance Market) รวมทั้งพัฒนาระบบการขอรับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (I-SERFF) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในองค์กรตลอดเวลา รวมไปถึงการยกระดับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และบริการประชาชน มีการจัดอบรมสัมมนารวมรวบพลังความคิดและการวิเคราะห์ในมิติต่างๆ ในด้านการประกันภัย ด้านเทคโนโลยี หรือ InsurTech อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการประกันภัย ในเชิงรุก และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อเป็นการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประกันภัยอย่างยั่งยืน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การสัมมนา InsurTech ในปีนี้ได้เชิญวิทยากรภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อที่น่าสนใจหลากหลายหัวข้อ อาทิ Building an Effective Employee Benefits and Healthcare Ecosystem, Recent Development in InsurTech, PasarPolis’s Mission to Democratize Microinsurance in SEA, How to Unicorns in Tech Business. ตลอดจนหัวข้อ Facebook Libra’s Cryptocurrency Case Study : Any Opportunity or Threats to Insurance Market or InsurTech ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้
“ผมคาดหวังว่าเวทีสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัยและนำองค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและประกันภัยจากทั้งในและต่างประเทศ นำไปต่อยอดและพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง และเชื่อมต่อการทำงานผ่านการสร้างพันธมิตรทั้งภายใน และระหว่างประเทศ ในการประกอบธุรกิจซึ่งกันและกัน อันจะเป็นการเสริมสร้างโอกาสและพัฒนาประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลอดจนช่วยส่งเสริมขีดความสามารถให้กับวงการเทคโนโลยีสารสนเทศในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า และสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัยใหม่ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของภาคส่วนอุตสาหกรรมประกันภัยและภาคเทคโนโลยีสารสนเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระบบประกันภัยของไทยมีความเข้มแข็ง อันจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศชาติเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้น”เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย