นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2566 โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมเดินหน้าชี้แจงสหรัฐฯ ถึงพัฒนาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และเร่งขับเคลื่อนแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) โดยเชื่อมั่นว่าหากดำเนินการตามแผนงานได้สำเร็จไทยจะหลุดจากบัญชี WL ในปีต่อไปอย่างแน่นอน
จากการที่ประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) นั้น สหรัฐฯ ได้ตระหนักถึงพัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ รองรับกลไกแจ้งเตือนและนำออก (Notice and Takedown) สำหรับให้เจ้าของสิทธิแจ้งให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพิ่มการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measure: TPM) ขยายอายุความคุ้มครองภาพถ่าย และการที่ไทยเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ชื่นชมความพยายามของหน่วยงานไทยในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System (TCIRs) การจัดทำบันทึกข้อตกลงภาครัฐ – เอกชน เพื่อร่วมมือกันคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต และตัดรายได้โฆษณาของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นต้น
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้เร่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Smart DIP ซึ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเช่น บริการ Fast Track จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจดสิทธิบัตรด้านการแพทย์และสาธารณสุข บริการ Image Search สำหรับประชาชนตรวจสอบเครื่องหมายการค้าด้วยตนเองก่อนยื่นคำขอ และการพัฒนาระบบการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรไทยด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และบริการให้คำปรึกษาภาคธุรกิจแบบครบวงจรผ่านศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ภาคเอกชน และเจ้าของสิทธิ์ในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมฯ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
นายวุฒิไกร กล่าวเน้นย้ำว่า กรมฯ จะเร่งผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ให้สำเร็จโดยเร็ว โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินการและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าว โดยที่ไทยได้เสนอร่างแผนงานดังกล่าวให้ฝ่ายสหรัฐแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอสหรัฐฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบร่วมกัน และต่อไปกรมฯ จะเดินหน้าชี้แจงสหรัฐฯ ถึงพัฒนาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอย่างต่อเนื่อง และเร่งดำเนินการตามแผนงานฯ โดยเชื่อมั่นว่าหากไทยสามารถดำเนินการตามแผนงานฯ ได้สำเร็จ จะทำให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ในปีต่อไป
สำหรับสถานะ Special 301 ประจำปี 2566 มี 7 ประเทศถูกจัดอันดับอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List) ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา และมี 22 ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี WL ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อียิปต์ อัลจีเรีย ตุรกี บาร์เบโดส เบลารุส บัลแกเรีย โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา เม็กซิโก ปารากวัย เปรู ตรินิแดดและโตเบโก และไทย