วันที่ 2 ก.ค.62 ณ โรงแรมริเวอร์ไรน์ เพลส จังหวัดนนทบุรี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (อธิบดี สค.) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครให้คำปรึกษาแก่หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ประจำปี พ.ศ.2562 และมอบนโยบาย “พม. กับภารกิจเพื่อคนไทยในต่างประเทศ” กล่าวรายงานโดย นางสาวกุรุพิน สิงห์น้อย ผู้อำนวยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สค. พร้อมด้วยเครือข่ายอาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศจาก ออสเตรเลีย ยุโรป และเอเชีย จำนวน 14 ประเทศ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น 83 คน
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากเดินทางไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเดินทางไปทำงาน ศึกษาต่อ หรือสร้างครอบครัว จากสถิติปัจจุบันพบว่ามีคนไทยอยู่ในภูมิภาคอเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และแปซิฟิกใต้ ประมาณ 1.5 ล้านคน และในอนาคตก็จะยังมีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นอีกว่ามีคนไทยจะไปพำนักอยู่ต่างประเทศมากขึ้นในทุกปี นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคนไทยในต่างประเทศจำนวนมากประสบปัญหาต่างๆ ในประเทศที่ตนเองพำนักอยู่ ได้แก่ 1) ปัญหาครอบครัวที่เกิดจากพื้นฐานทางครอบครัวและการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน 2) ปัญหาการปรับตัวด้านวัฒนธรรมและภาษา 3) ผลจากการไม่รู้เรื่องกฎหมายส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการสวัสดิการสังคมที่รัฐจัดให้ทั้งจากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศต้นทางและประเทศปลายทางที่ไปพำนัก นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการถูกแบ่งแยก ขาดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการจ้างงาน ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการด้านการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไทยมีความห่วงใยต่อประชากรไทยทุกคน แม้ว่าจะไม่ได้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยก็ตาม โดยให้ทุกส่วนราชการส่งเสริม สนับสนุนให้มวลชนคนไทยที่อยู่อาศัยในต่างประเทศเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันทำประโยชน์ สร้างชื่อเสียงให้เกิดต่อประเทศชาติ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยในต่างประเทศรวมตัวกัน ช่วยเหลือกัน รวมถึงการสนับสนุนให้หญิงไทยทำงานเพื่อสังคม รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความรัก ความสามัคคีของคนไทยและสตรีไทยเสมือนเป็นทูตของประเทศไทย สร้างความประทับใจให้แก่ชาวต่างชาติ เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในต่างประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรีและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ ดำเนินการผ่านศูนย์ส่งเสริมและประสานการพัฒนาสังคมไทยในต่างประเทศ ใน 4 มาตรการ ได้แก่ 1) การเสริมพลัง (Empowerment) ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มผู้สูงอายุ 2) บูรณาการหุ้นส่วนการทำงาน (Integration Partnership) สร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบข้อมูลการให้ความช่วยเหลือของเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ โดยนำร่องประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก 3) สร้างเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (Net Working CSR) โดยการจัดทำหลักสูตรอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในต่างประเทศ ล่ามภาษาอาสาสมัคร และจิตอาสา เป็นต้น และ 4) การวิจัยและพัฒนา
ผมเชื่อว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ หัวใจสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จของภารกิจการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ ผมขอขอบคุณ ผู้ร่วมดำเนินการ เครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ อาสาสมัครหญิงไทยทุกท่าน ที่ร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริมภารกิจของกระทรวงให้มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย
การประชุมเพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครให้คำปรึกษาแก่หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 5 ก.ค. 62 เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์ระหว่างเครือข่ายอาสาสมัคร และเสริมสร้างทักษะการให้คำปรึกษา เพื่อสนับสนุนให้สตรีไทยในต่างประเทศ มีความเข้มแข็ง ช่วยเหลือดูแลกัน โดยอาสาสมัครกลุ่มนี้ในหนึ่งปีจะกลับมาประเทศไทย และเข้ารับการอบรมให้ความรู้จากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อที่จะได้กลับไปให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษากับผู้ที่ยังประสบปัญหาในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน เนื่องจากในชุมชนหรือพื้นที่เดียวกันย่อมมีความเข้าใจในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมอันจะส่งผลให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายให้ความรู้และการถอดบทเรียนจากอาสาสมัครฯ โดยในวันที่ 2 ก.ค. 62 เป็นการบรรยายหัวข้อ บทบาทภาครัฐ : การช่วยเหลือหญิงไทยในต่างแดน โดย นายบัญชา ยืนยงจงเจริญ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล เวทีเสวนาถอดบทเรียนบทบาทอาสาสมัครการช่วยเหลือหญิงไทยในต่างแดนและ Good Practice โดย นางนงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์ ผู้อำนวยการศูนย์การปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ นางวีริน ทาเคดะ ประธานเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น ดำเนินรายการโดย นายแพทย์ประเวช ตันติพิพัฒนสกุล และวันที่ 3 ก.ค. 62 การบรรยายเรื่อง การเสริมสร้างทักษะและขีดความสามารถของอาสาสมัครในการทำหน้าที่จิตอาสาในต่างแดน และการดูแลสุขภาพจิตของผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา (Self-Care and Healing Process และหัวข้อ แนวทางการ ประสานส่งต่อผู้ประสบปัญหาทางสังคมเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือในต่างแดน (Empowermentand Facilitation /Communication) โดย นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล วันที่ 4 ก.ค. 62 การบรรยายหัวข้อ แนวทางการขอจดทะเบียนบุตรบุญธรรมในต่างประเทศ โดยนางสาวจินตนา วัชรากูล ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมกิจการเด็กและเยาวชน หัวข้อ หลักเกณฑ์การคัดเลือกทหารเกณฑ์ โดย พันเอก เสกสรร เสืออิ่ม ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน หัวข้อ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในต่างประเทศ โดย นางเบญจวรรณ บุตรเพชรรัตน์ กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และหัวข้อ แนวทางและหลักการเขียนโครงการ โดย ดร. อรพินท์ สพโชคชัย นักวิชาการอิสระ จากนั้นจะเป็นพิธีปิดและมอบเกียรติบัตร โดย อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต) และในวันที่ 5 ก.ค. 62 คณะเครือข่ายหญิงไทย จะเข้าศึกษาดูงานด้านสังคมและนวัตกรรมในงาน “ Thailand Social Expo 2019” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี