พบ ”เต่าทะเล” เกยตื้นจังหวัดจันทบุรี และตราด “กรมทะเลชายฝั่ง” เร่งตรวจสอบ และรักษา เพื่อปล่อยกลับสู่ท้องทะเล

วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) ได้รับแจ้งจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ได้พบเต่าทะเลเกยตื้น จำนวน 4 ตัว ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเต่าตนุ (Chelonia mydas) โดย

ตัวที่ 1 พบบริเวณหาดบานชื่น ต.ไม้รูด จ.ตราด ความยาว 80 เซนติเมตร ความกว้าง 76 เซนติเมตร น้ำหนัก 50.50 กิโลกรัม

ตัวที่ 2 พบบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ความยาว 72 เซนติเมตร ความกว้าง 65 เซนติเมตร น้ำหนัก 51.25 กิโลกรัม

ตัวที่ 3 พบบริเวณบ่อกุ้งใกล้อ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ความยาว 72 เซนติเมตร ความกว้าง 65 เซนติเมตร น้ำหนัก 39.45 กิโลกรัม

จากการตรวจหาสาเหตุของสัตวแพทย์ พบว่า ตัวที่ 1-3 เป็นการป่วยตามธรรมชาติ โดยเต่าทั้ง 3 ตัว มีอาการอ่อนแรง ไม่สามารถจมตัว แต่ว่ายน้ำได้ปกติ และมีความสมบูรณ์ของร่างกายเป็นอย่างมาก ในส่วนของ

ตัวที่ 4 มีความยาว 42 เซนติเมตร ความกว้าง 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 8.75 กิโลกรัม พบติดอวนจมปูบริเวณบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จากการตรวจสอบของสัตวแพทย์ พบว่ามีอาการทั่วไป มีการตอบสนอง และกินอาหารได้ดี

นายอภิชัย เอกวนากุล กล่าวว่า ภายหลังได้รับแจ้งเหตุ ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ศวทอ. เร่งนำเต่าตนุทั้ง 4 ตัว มายัง ศวทอ. เพื่อให้สัตวแพทย์รักษา และตรวจร่างกายอย่างละเอียด ก่อนที่จะนำปล่อยกลับสู่ท้องทะเล พร้อมกันนี้ ตน ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ ศวทอ. เก็บตัวอย่างน้ำทะเลในบริเวณที่พบเต่า เพื่อมาตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ภายหลังตรวจสอบพบว่าน้ำทะเลเป็นปกติ การเกยตื้นของเต่าตนุทั้ง 3 ตัว ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น เป็นเพียงความบังเอิญ แต่ที่ ตน ได้ตระหนักถึงปัญหา คือเต่าทะเลที่ติดอวนจมปู ซึ่งในปัจจุบันมีสัตว์ทะเลจำนวนมาก ที่เสียชีวิตลงจากเครื่องมือการทำประมง

ในโอกาสนี้ จึงอยากฝากพี่น้องประชาชน และชาวประมง ว่าให้ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งช่วยเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ ในการเลิกทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่ง กรม ทช. ได้มีเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เฝ้าตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง

โดยหากใครพบการกระทำความผิด หรือพบสัตว์ทะเลเกยตื้น สามารถแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบ และช่วยเหลือได้ทันท่วงที ต่อไป