“มะเร็งผิวหนัง” เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยแต่มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามสาเหตุที่สำคัญยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่า หูด ไฝ ปาน หรือแผลเรื้อรังเมื่อเกิดการระคายเคืองเป็นระยะเวลานานอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ รวมทั้งแสงแดดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน เนื่องในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งผิวหนัง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ขอเชิญชวนชาวไทยทำความรู้จักกับมะเร็งชนิดนี้กัน
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยในคนไทย โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย จากสถิติข้อมูลมะเร็งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 (Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018) รวบรวมโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งในแต่ละปีพบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังรายใหม่เฉลี่ย 4,374 คนต่อปี หรือวันละ 12 คน มะเร็งผิวหนังมักพบที่บริเวณใบหน้า แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ส่วนใหญ่เริ่มจากมีการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน หรือเริ่มต้นเป็นแผลเล็ก ๆ แล้วจึงค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น มีลักษณะผิวขรุขระ ขอบเขตไม่ชัดเจน สีไม่สม่ำเสมอ
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่สำคัญในการเกิดมะเร็งผิวหนังนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ได้แก่ แสงแดด, มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง, โรคทางพันธุกรรมบางโรค, คนผิวขาว หรือผิวเผือก, สารเคมีบางชนิด เช่น สารหนู, แผลเรื้อรัง, ภาวะภูมิต้านทานต่ำ และการได้รังสีรักษา เป็นต้น สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนัง ทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อรอยโรคที่สงสัยเพื่อตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา และหลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะทำการประเมินระยะของโรคเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษามะเร็งผิวหนัง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่งของมะเร็ง ทั้งนี้ ด้วยวิธีการรักษาทางมาตรฐานมักจะต้องทำการผ่าตัดทั้งรอยโรคและในส่วนบริเวณผิวหนังที่ปกติโดยรอบออก อาจจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองในส่วนที่มะเร็งจะกระจายไป ซึ่งบางกรณีอาจต้องให้ยาเคมีบำบัด หรือ การให้รังสีรักษา ร่วมด้วย
วิธีการป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดนานๆ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันเพื่อลดการสัมผัสแสงแดดโดยตรง เช่น ใส่แว่นกันแดด, ใช้ร่ม, สวมหมวก, สวมเสื้อแขนยาว ควรหมั่นสังเกตบนร่างกายตนเองเป็นประจำว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ หรือหากมีแผลเรื้อรังควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
หากตรวจพบการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ในระยะเริ่มต้น จะทำให้การรักษาโรคมะเร็งนั้นง่ายขึ้น เมื่อสงสัยว่าผิวหนังหรือไฝบนร่างกายของตนเองเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและพบว่ามีความผิดปกติ ท่านควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและทำการรักษาที่ถูกต้อง ท่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้เรื่องโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2 และ Line : NCIรู้สู้มะเร็ง