ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ และ ดร.บุณณนิดา โสดา ผู้อำนวยการ กองวิเทศสัมพันธ์ ร่วมเป็นเกียรติในงาน KICK OFF โครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ระยะที่ 2 ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ ซึ่ง วช. ให้ทุนสนับสนุนแก่ วว. ดำเนินโครงการฯ บนพื้นที่เกาะสมุย โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาพื้นที่ สร้างต้นแบบเชิงรูปธรรม ทั้งภาคการผลิต การแปรรูป การตลาด สู่การสร้างประโยชน์ให้ชุมชนในพื้นที่และพื้นที่อื่นๆ ในการศึกษาดูงานและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน BCG พร้อมทั้งเพื่อให้เป็นรูปแบบของการขยายผลในพื้นทื่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต
โครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ระยะที่ 2 ประกอบด้วยกิจกรรม การปลูกพืชในระบบโรงเรือน (ปลูกพืชแบบไร้ดินหรือไฮโดรโปรนิกส์ การพัฒนาระบบการปลูกพืชมูลค่าสูง) การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ (เห็ดนางรมเทา เห็ดแครง เห็ดนางฟ้าภูฐาน) ตามหลักการเศรษฐกิจฐานชีวภาพ การนำของเหลือจากระบบปศุสัตว์ การเกษตร และจากชุมชน เปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยมูลไส้เดือน และสารปรับปรุงดิน ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน การผลิตพืชตามหลักการปฏิบัติที่ดี และการรวบรวมผลผลิตตามหลักการ GMP เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตามหลักการเศรษฐกิจสีเขียว
ในการดำเนินงานโครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ระยะที่ 2 วว. ได้บูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ เทศบาลนครเกาะสมุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี บนฐานทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนของชุมชน โดยชุมชนในท้องที่มีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ สู่การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและยั่งยืนตามแนวทางนโยบาย BCG
อนึ่งจากการดำเนินงานโครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ระยะที่ 1 วว. ประสบผลสำเร็จในการสร้างโรงเรือนเปิดดอกและสถานที่ผลิตก้อนเชื้อเห็ด ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องโครงการฯ ดั งนี้ การเปิดดอกเห็ดสกุลนางรม ได้แก่ เห็ดนางรมเทา 2 โรงเรือนๆ ละ 2,000 ก้อน รวมทั้งหมด 4,000 ก้อน เ ห็ดนางฟ้าภูฐานดำ จำนวน 2 โรงเรือนๆ ละ 2,000 ก้อน รวม 4,000 ก้อน เห็ดแครง 1 โรงเรือน จำนวน 2,000 ก้อน รวม 5 โรงเรือน จำนวนก้อนทั้งหมด 10,000 ก้อน อีกทั้งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการจัดการการผลิตเห็ด การฝึกปฏิบัติขั้นตอนการผลิตเห็ดเศรษฐกิจแบบครบวงจร การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ และนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตเห็ดเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ และการผลิตก้อนเห็ดในระบบถุงพลาสติก
นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมซีลีเนียม พร้อมทั้งจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรนอกวิทยาลัย จัดทำแปลงผลิตข้าวเสริมซีลีเนียมจำนวน 7 แปลง ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ และขยายไปยังจังหวัดปัตตานี การผลิตพืชผักและผลไม้ในระบบโรงเรือน รวมถึงการแปรรูปอาหาร แปรรูปสมุนไพรเป็นเครื่องสำอาง สามารถสสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร สร้างอาชีพทำให้เกิดรายได้ และเป็นต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน