นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการหลวง เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพ มีรายได้ให้แก่ชาวไทยบนที่ราบสูงเพื่อเป็นการทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 ซึ่งมีพระราชดำริ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” โดยใช้วิถีชีวิตแบบอยู่ร่วมกันเป็นหลักแหล่ง มีที่ทำกินแน่นอน และมีการรวมกลุ่มกันทำการบริหารชุมชน ตลอดถึงพื้นที่ทำการผลิตและผลผลิตของสมาชิกชุมชนอย่างยั่งยืนแบบ
ซึ่งกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานมาโดยตลอดและได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ของโครงการดังกล่าว
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานทุกระดับโดยบูรณาการร่วมทัังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ กับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะฝีมือ ความรู้ทางวิชาการด้านเกษตรเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติร่วมกับสถาบันวิจัยฯ จัดฝึกอบรมให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงในจังหวัดเชียงราย รวมถึงฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของสถาบันวิจัยฯ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อแก่ประชาชนในหลักสูตรต่างๆ เช่น
การจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตกรรมผ่านตลาดออนไลน์ การให้บริการบ้านพักและร้านอาหารในพื้นที่โครงการหลวงเพื่อสร้างความประทับใจ การต้อนรับและให้บริการการพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อสร้างความประทับใจและภาษาอังกฤษเบื้องต้นสำหรับการสื่อสาร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งนี้ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้ฝึกอบรมจากนี้ไปด้วย ได้แก่ หลักสูตรการปลูกพืชภายใต้ระบบโรงเรือนร่วมกับระบบ Internet of Things (IoT) สำหรับการเกษตร (Smart Greenhouse for IoT)
ความร่วมมือดังกล่าว สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนให้แก่ชุมชน ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านเพื่อพัฒนาชาวเขาต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรอื่นดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th เลือกหัวข้อกำหนดการฝึกอบรม หรือสอบถามโทร 1506 กด 4 อธิบดี กพร.กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสาวลักขณา เหียง (น้องมะปราง) อายุ 28 ปี ลูกหลานชนเผ่าบ้านปางแดงใน ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร การใช้สมาร์ทโฟนเพื่อธุรกิจออนไลน์ จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เมื่อปี 2562 ได้นำทักษะที่ได้จากการอบรมไปเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงใน จากรายได้ปีละหลักหมื่น ขณะนี้ยอดขายหลักแสน ตนภูมิใจที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความสำคัญและไม่ทอดทิ้งตนทำให้มีรายได้มีอนาคตชีวิตมีความสุข