กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และคณะแพทย์ศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม 2562 โดยปีนี้ขยายการตรวจคัดกรอง 5 ช่วงวัย พร้อมติดตามเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยเครื่องมือ DSPM
วันที่ 2 กรกฎาคม 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2562 ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2561 และขยายต่อตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561–31 มีนาคม 2564 โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงองค์กรหลักอื่น ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยไปสู่การปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการเฝ้าระวัง ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิด-5 ปีตั้งเป้าหมายให้เด็กไทยทุกคน ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน โดยในปี 2559-2560 ได้มีการรณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็ก 4 ช่วงอายุสำคัญ ได้แก่ 9 เดือน,18 เดือน, 30 เดือน และ 42 เดือน และตั้งแต่ปี 2561–2562 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ จัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กจากเดิม 4 ช่วงอายุ เพิ่มเป็น 5 ช่วงอายุ ได้แก่ 9 เดือน,18 เดือน, 30 เดือน, 42 เดือน และ 60 เดือน เพื่อเร่งรัดติดตามกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าให้ได้รับการดูแลและส่งต่อแก่ทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการต่อไปได้ทันท่วงที ซึ่งผลการดำเนินงานคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ ในปี 2562 พบความครอบคลุมร้อยละ 90 พัฒนาการสงสัยล่าช้าร้อยละ 25 และติดตามร้อยละ 92
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า งานด้านพัฒนาการเด็กของประเทศไทยนั้น ยังคงต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงาน เพราะการดูแลเด็ก 1 คนต้องดูแลแบบองค์รวม ไม่สามารถทำแยกส่วนได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสำคัญ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรุงเทพมหานคร ได้นำเอาเครื่องมือ DSPM ที่สามารถนำมาใช้ในการคัดกรองพัฒนาการเด็ก เพื่อเฝ้าระวังและให้การส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ตามช่วงวัย รวมถึงสามารถส่งต่อเด็กที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไปได้ทันท่วงที
“ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษ มีกลุ่มประชากรโยกย้ายเข้าออกอยู่ตลอดเวลา การติดตามเด็กเพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองพัฒนาการมีความยากกว่าพื้นที่ทั่วไป เพราะเด็กส่วนใหญ่จะมีทั้งที่อยู่จริงตามทะเบียนราษฎร์และเด็กที่ย้ายตามพ่อแม่เข้ามาทำงาน จึงจำเป็นที่ต้องเร่งรัดการติดตามเด็กกลุ่มนี้ให้เข้ามารับบริการเพื่อลดปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งขณะนี้หน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศและหน่วยบริการสุขภาพในสังกัดกรุงเทพมหานครได้จัดทีมไว้สำหรับบริการประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ในช่วงสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม 2562 เป็นการกระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญในการติดตามเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน และดาวน์โหลดคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยผ่าน QR code หรือ application khunlook เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของลูกหลานตนเอง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 2 กรกฎาคม 2562