อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ลงพื้นที่นครพนมติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดนครพนม พร้อมเยี่ยมชมกระชังเลี้ยงปลา ของนางอนงนุช สาโทสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด โดยมี นางสาววัชรี ปุกหุต สหกรณ์จังหวัดนครพนม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนม และสมาชิกสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่ได้ให้นโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนมได้ร่วมกันดำเนินขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ การสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหานี้ค้างเป็นสิ่งสำคัญ สหกรณ์จะต้องดำเนินมาตรการด้านการป้องกัน โดยเฉพาะการให้สินเชื่อแก่สมาชิก จะต้องมีคุณภาพ มีความรอบคอบ วิเคราะห์ศักยภาพในการชำระหนี้ของสมาชิก เพื่อป้องกันปัญหาสมาชิกไม่สามารถชำระหนี้ รวมทั้งสหกรณ์ต้องส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก พัฒนาสมาชิกแบบรายคน จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกตลอดทั้งปี ซึ่งกรมฯ มีเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส. ให้สหกรณ์กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้สมาชิกนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ นอกจากการแก้ไขปัญหาสินเชื่อแล้ว ยังต้องพัฒนาด้านการตลาดให้กับสินค้าสหกรณ์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน สหกรณ์มีความเข้มแข็ง สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดี

“จากการที่ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัดได้ส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก ซึ่งจะเห็นว่าการดำเนินการสามารถทำได้เป็นอย่างดี ตัวสมาชิกสหกรณ์มีความขยัน มีองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จะพัฒนาแปลงให้มีผลผลิตที่ดี มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรรายอื่น ๆ ด้วย ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะสนับสนุนเงินทุนต่าง ๆ ให้กับสหกรณ์ในพื้นที่ ซึ่งกรมฯ มีกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เป็นเงินทุนอัตราเอกเบี้ยร้อยละ 1 เพื่อให้สหกรณ์นำมาช่วยเหลือสมาชิกที่ต้องการเงินทุนไปประกอบอาชีพทั้งเรื่องแหล่งน้ำ หรือซื้อปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพื่อสมาชิกมีอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากการลงพื้นที่ไปดูการเลี้ยงปลาในกระชังนั้น การช่วยเหลือสมาชิกด้านเงินทุนจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกสหกรณ์และสหกรณ์ในพื้นที่อีกด้วย” นายวิศิษฐ์ กล่าว

สหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิก 349 ราย ดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจเงินรับฝาก ทั้งนี้ ในปี 2565 กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 2.4 ล้านบาท และปี 2566 วงเงิน 2 ล้านบาท รวมทั้งได้สนับสนุนเงินอุดหนุนอุปกรณ์การตลาด โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการประมงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ปีงบประมาณ 2561 เป็นเงินจำนวน 319,500 บาทด้วย

ในปีบัญชี 30 เมษายน 2565 สหกรณ์มีกำไร 29,565 บาท สหกรณ์ดำเนินการส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงปลาในกระชัง จำนวน 600 กระชัง ปริมาณปลา 510 ตัน/ปี ปลานิลจะส่งจำหน่ายให้กับ ซีพี ราคา 67 – 70 บาท/กก. จำหน่ายในตลาด ราคา 70 – 75 บาท/กก. และหน้ากระชัง (รับเอง) ราคา 67 บาท/กก. ในส่วนปลาเผาะ สมาชิกจะจำหน่ายในตลาด ราคา 130 – 150 บาท/กก. และหน้ากระชัง (รับเอง) ราคา 120 – 130 บาท/กก. เฉลี่ยการลงทุนเลี้ยงปลา 25,000 บาท/กระชัง สมาชิกสามารถจำหน่ายปลาได้ประมาณ 57,000 บาท/กระชัง ซึ่งการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี

จากนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงลิ้นจี่ ของ นายศักดิ์ดา บุญวงค์ สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด บ้านกุดข้าวปุ้น ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งปลูกลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 เป็นอาชีพเสริม บนพื้นที่จำนวน 2 ไร่ ซึ่งสหกรณ์สนับสนุนเงินกู้ระยะสั้น จำนวน 30,000 บาท เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพเสริม ทำระบบน้ำบาดาล ซื้อปุ๋ย ค่าแรงงาน และบำรุงรักษาต้นลิ้นจี่ ปีผลผลิตที่ผ่านมา สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 1,200 กก. ราคาจำหน่ายหน้าสวน 50 บาท/กก. โดยจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางและจำหน่ายเอง ทำให้มีรายได้จากการขายลิ้นจี่ 60,000 บาท สำหรับ ลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 เป็นผลไม้สินค้า GI ของจังหวัดนครพนม เป็นลิ้นจี่พันธุ์เบา มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลใหญ่ เนื้อแห้ง ไม่เละ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนเมษายนของทุกปี ทำให้จำหน่ายได้ในราคาดี และไม่มีปัญหาด้านการตลาด นอกจากนี้ นายศักดิ์ดา ยังใช้พื้นที่อีก 1 ไร่ของตนเอง ทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกมะนาว มะม่วง เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ สหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด มีสมาชิกปลูกลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1  เป็นอาชีพเสริม จำนวน 3 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวม 7 ไร่ ได้ผลผลิต 4,100 กก. ราคา 50 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่า 210,000 บาท มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,597 บาท/ไร่ จำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางและจำหน่ายเองในตลาดชุมชน โดยสหกรณ์สนับสนุนเงินกู้ระยะสั้นรายละ 30,000 บาท เพื่อใช้เป็นค่าปุ๋ย ค่าอุปกรณ์น้ำ ค่าแรงงานและค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น

ในด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนม ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างนานของสมาชิกสหกรณ์ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้ค้างของสมาชิกสหกรณ์อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ระยะแรกมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 7 แห่ง ชำระบัญชี 1 แห่ง สมาชิก 1,618 ราย ซึ่งมีต้นเงินคงค้าง 111 ล้านบาท หลังดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี ปัจจุบันคงเหลือต้นเงินค้างชำระ 55.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50.1 เห็นได้ว่าเมื่อภาครัฐเข้าร่วมแก้ปัญหา การหารือร่วมกันส่งผลให้การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ของสหกรณ์ทั้ง 7 แห่ง มีรูปแบบตามบริบทและข้อตกลงของแต่ละสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งในปี 2566 มีสหกรณ์เป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 20 แห่ง เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร 13 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 7 แห่ง มูลหนี้รวมทั้งสิ้น 355 ล้านบาท เป้าหมายลดหนี้ค้างเฉลี่ยร้อยละ 10 ภายใต้ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการที่ 1 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (เลื่อน ลด งด ขยาย) มาตรการที่ 2 การชำระหนี้ด้วยผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิก และมาตรการที่ 3 การส่งเสริมอาชีพภายใต้เงื่อนไขสมาชิก เน้นทำกำไรระยะสั้น หมุนเวียนทำกำไรหลายรอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลสมาชิกรายบุคคลและการประชุมชี้แจงร่วมกับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนมยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินเชื่อของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์มีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ค้างนานของสมาชิกขึ้นอีก สหกรณ์ภาคการเกษตรสามารถพัฒนาศักยภาพให้เป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ สามารถเพิ่มปริมาณธุรกิจ สหกรณ์ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วย