จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับประเด็นปัญหาวิกฤตปลาทูไทยใกล้สูญพันธุ์ จากการจับลูกปลาทูขนาดเล็กไปจำหน่าย โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมงนำ พ.ร.ก.การประมง 2558 มาตรา 57 ที่มีข้อกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง”
มาบังคับใช้
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า พ.ร.ก.การประมง 2558 มาตรา 57 มีข้อกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” มิได้มีข้อยกเว้นไว้กับจำนวนสัตว์น้ำที่นำขึ้นเรือประมงแต่ประการใด และหากได้มีการกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่ห้ามนำขึ้นเรือแล้ว ก็มิได้มีข้อยกเว้นกับเรือประมงพื้นบ้านหรือเรือประมงพาณิชย์ ทั้งนี้ มาตรา 57 จึงเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงเป็นอย่างยิ่ง มีความเสี่ยงที่ชาวประมงจะกระทำผิดได้โดยง่าย และอาจทำให้ชาวประมงกระทำผิดโดยมิได้ตั้งใจ
ดังนั้น จะต้องนำมาตรา 71 (2) ซึ่งมีข้อกำหนดที่ต้องปฎิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับโดยบังเอิญมาพิจารณาร่วมด้วย เพราะหากพิจารณาตาม 71 (2) การที่สัตว์น้ำถูกจับได้ โดยมิใช่การมุ่งหมายจะจับสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ โดยตรง ย่อมมีปริมาณไม่มากนัก จะสามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่ชาวประมงจะกระทำผิดตามมาตรา 57 ได้ และเมื่อช่วงปลายปี 2559 ได้มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดขนาดสัตว์น้ำตามมาตรา 57 อันประกอบไปด้วยนักวิชาการของกรมประมง และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากร ร่วมกันพิจารณาเรื่องของชนิดสัตว์น้ำ เครื่องมือประมง ปริมาณการจับที่นำมาใช้ประโยชน์ โดยคณะกรรมการได้พิจารณาให้ “ปลาทู” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม ควรเป็นสัตว์น้ำชนิดแรกที่นำมากำหนดขนาด และออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามมาตรา 57 ประกอบกับผลวิจัยของกรมประมงระบุว่า ปลาทู ขนาด 14 เซนติเมตร เป็นปลาทูขนาดแรกสืบพันธุ์ ที่เริ่มวางไข่ครั้งแรก ดังนั้น เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างเหมาะสม จึงไม่ควรจับปลาทูในช่วงที่ยังไม่สามารถวางไข่ได้ แต่หากกำหนดขนาดปลาทูที่เล็กที่สุดของวัยแรกสืบพันธุ์ที่ 14 เซนติเมตร ตามมาตรา 57 อาจทำให้ทั้งเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้าน มีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดได้โดยง่ายเหมือนกัน เพราะทั้งเครื่องมือพื้นบ้านและพาณิชย์ต่างก็สามารถจับปลาทูขนาดต่ำกว่า 14 เซนติเมตรได้เช่นกัน
ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงในภาพรวม กรมประมงจึงได้มีการเชิญประชุมหารือตั้งแต่ปี 2559 – 2560 รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยเป็นการประชุมด้านวิชาการ เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับขนาดของปลาทู 2 ครั้ง ประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับประมงพื้นบ้าน 2 ครั้ง และประมงประมงพาริชย์ 1 ครั้ง และประชุมโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขกฎหมายอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพการทำประมง ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือร่วมกันระหว่างประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ อีกจำนวน 1 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันทั้งในส่วนของกรมประมง ประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ได้ โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านได้ยอมรับในขนาดของปลาทูที่ห้ามทำการประมง ที่ขนาดต่ำกว่า 14 เซนติเมตร ในขณะที่ทางประมงพาณิชย์เบื้องต้นขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าจะไปดำเนินการประชุมหารือร่วมกับสมาคมประมง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลเพื่อหาข้อยุติก่อน
อธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการตามมาตรา 57 จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและชัดเจนมีความเห็นร่วมกันทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับการประกอบอาชีพประมง ดังนั้น ชาวประมงทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติ
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์