สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมิถุนายน และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562

ภาพรวม

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี 2562 เดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 1.15 ปัจจัยบวกที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นคือ สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยสูงขึ้นร้อยละ 6.35 โดยเฉพาะผักและผลไม้ ข้าวสารและเนื้อสุกร ส่วนปัจจัยลบที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวคือ สินค้ากลุ่มพลังงานที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของปี โดยลดลงร้อยละ 3.86 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวร้อยละ 0.48 (YoY) เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.92 (เฉลี่ย 6 เดือน แรกของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.97) โดยมีสินค้ากลุ่มพลังงานเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในเดือนนี้ สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต ที่ลดลงร้อยละ 1.1 ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 0.8 ตามการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 48.1 จากระดับ 51.2 ในเดือนก่อนหน้า ลดต่ำกว่าเกณฑ์ช่วงความเชื่อมั่นเป็นเดือนแรกของปี 2562 นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ชะลอตัว ดังกล่าว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นที่ชะลอตัวลง อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ รวมถึงมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ (ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้) รายได้เกษตรกร และอัตราค่าจ้างเฉลี่ย มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีและจะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศมีเสถียรภาพ

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนมิถุนายน และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (YoY) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.12 ซึ่งผักและผลไม้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีสูงขึ้น โดยผักสดสูงขึ้นร้อยละ 18.89 (พริกสด มะนาว กะหล่ำปลี) จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดสลับกับฝนตกชุก ทำให้พืชผักเน่าเสียได้ง่าย ประกอบกับปีที่ผ่านมาราคาฐานต่ำ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 4.41 (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู) โดยเฉพาะเนื้อสุกร ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการมีเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในและต่างประเทศ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 4.02 (ข้าวสารเจ้า/เหนียว) ความต้องการมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้าวในสต็อกมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตออกตลาดน้อยในช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.92 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมสด) ตามความต้องการที่มากในช่วงเปิดภาคการศึกษา เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.64 (น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.55 และ 1.10 ตามลำดับ (อาหารเช้า ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป) ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ 0.29 (น้ำพริกแกง ซอสมะเขือเทศ ผงชูรส) เนื่องจากการแข่งขันด้านการตลาด หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.40 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 1.58 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงถึงร้อยละ 6.26 และการสื่อสาร ร้อยละ 0.03 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.18 (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 5.87 (ค่าโดยสารรถขสมก./บขส. ค่าโดยสารรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัด) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.32 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.12 (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวดลดไข้) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.81 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.01

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.36 (MoM) และเมื่อพิจารณาเฉลี่ย 6 เดือนแรก ของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.92 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.1 (YoY) หลังจากเดือนที่ผ่านมาทรงตัว ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ลดลงร้อยละ 2.2 โดยเฉพาะสินค้า กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก ความต้องการลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาลงเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) การแข่งขันสูงกับเหล็กที่นำเข้าจากประเทศจีน กลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คำสั่งซื้อชะลอตัว ประกอบกับมีการปรับราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ราคาวัตถุดิบลดลงและมีการแข่งขันสูงในตลาดต่างประเทศ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.9 ตามราคาสินค้าในกลุ่มน้ำมันปิโตรเลียมดิบและแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) เป็นสำคัญ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.7 ตามการสูงขึ้นของ กลุ่มผลผลิตการเกษตร อาทิ ข้าวเปลือกเหนียวยางพารา จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศของภาครัฐ พืชผัก (มะนาว แตงกวา มะเขือ) ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน มังคุด) กลุ่มสัตว์มีชีวิต (สุกร ไก่มีชีวิต) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปูม้า ปลาอินทรี กุ้งแวนนาไม) ตามความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.9 (MoM) และเมื่อพิจารณาเฉลี่ย 6 เดือนแรก ของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.2 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.8 (YoY) ซึ่งลดลงอีกครั้งหลังจากปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน ตามการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 7.8 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก) จากการแข่งขันสูง เนื่องจากปริมาณเหล็กในตลาด มีจำนวนมาก ทั้งจากการนำเข้าและการเริ่มผลิตอีกครั้งหลังจากที่หยุดซ่อมบำรุงในก่อนหน้านี้ หมวดสุขภัณฑ์ ลดลง ร้อยละ 1.2 (โถส้วม อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะ) ปรับราคาลดลงเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.8 (สายเคเบิล สายไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์พีวีซี) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.6 (อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียม ยางมะตอย) ในส่วนของยางมะตอยปรับลดลงตามราคาปิโตรเลียม ขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สูงขึ้นร้อยละ 11.2 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน) ตามราคาไม้นำเข้าที่สูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตบล็อก คอนกรีตผสมเสร็จ) ปรับตามราคาปูนซีเมนต์ผสม ประกอบกับความต้องการมีมากขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องบุผนัง-ปูพื้น กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน ซิลิโคน) และหมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (ปูนซีเมนต์ผสม) ตามปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.4 (MoM) และเมื่อพิจารณาเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง (AoA)

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2562 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในอัตราที่ชะลอตัวของเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี มีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก โดยได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสดเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับปีที่ผ่านมาราคาฐานต่ำ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2562 จากระหว่างร้อยละ 0.7-1.7 (YoY)(ค่ากลาง 1.2) เป็นระหว่างร้อยละ 0.7 -1.3 (YoY) (ค่ากลาง 1.0) เพื่อให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยสำคัญจาก ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากบริบททางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลง ประกอบกับ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศลดลง นอกจากนี้ การส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว แสดงถึงการลดลงของแรงส่งด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ ส่งผลให้แรงกดดันในการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการลดลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าจ้างของแรงงานในธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังแสดงให้เห็นจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ อาทิ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ (ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้) รายได้เกษตรกร และอัตราค่าจ้างเฉลี่ย มีแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลง และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า จะส่งผลให้ค่าครองชีพของภาคครัวเรือนชะลอการเพิ่มขึ้น  ตลอดจนต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบของภาคธุรกิจลดลง ส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนให้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้ ดังนั้น คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 2562 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2561 และจะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศมีเสถียรภาพ อยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้

——————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์