กรม ทช. พบปะเครือข่ายทางทะเล ระยอง จันทบุรี ตราด ส่งเสริมงานปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

วันที่ 21 เมษายน 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคตะวันออกมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ที่มีทรัพยากรป่าชายเลนหนาแน่น พร้อมกับแนวปะการังตามหมู่เกาะสําคัญ เช่น เกาะช้าง เกาะกูด และเกาะหมากที่มีสภาพสวยงาม ตลอดจนแหล่งหญ้าทะเล บริเวณอ่าวคุ้มกระเบน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากอีกหลายชนิด ทั้งเต่าทะเล วาฬ โลมา ที่มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน แต่ละพื้นที่ยังคงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็น การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาขยะทะเล และปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งหลายๆ ปัญหา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เช่น การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในพื้นที่หาดโคลน โครงการพื้นที่สาธิตบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรแบบมีส่วนร่วม ณ พื้นที่สวนสาธารณะโขดปอและชุมชนเนินพระ จังหวัดระยอง

พร้อมกันนี้ กรมฯ ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยว ได้แก่ ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ และป่าชายเลนทุ่งโปรงทอง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน เสริมสร้างรายได้และแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติให้กับชุมชนชายฝั่ง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

นอกจากนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงฯ ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่เครือข่ายและอาสาสมัคร เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลก ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2580 โดยนำมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่พื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า เข้ามามีบทบาทด้านการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่นานมานี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตใน 2 ลักษณะ ได้แก่ คาร์บอนเครดิตสำหรับบุคลากรภายนอก คาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังซักซ้อมกรอบแนวทาง ติดตามภารกิจ รวมถึงสรุปปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน และข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในการจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตทั้ง 2 ลักษณะ อีกทั้งร่วมกำหนดการขับเคลื่อนแผนงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและคนรุ่นหลัง การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้จึงเป็นนโยบายสำคัญเพื่อประโยชน์ในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการใช้คาร์บอนเครดิต เพราะป่าชายเลนถือเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ สอดคล้องกับแนวทางการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำของรัฐบาล ขณะเดียวกันยังเป็นการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืน และประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าชายเลน ” นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าว”

นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกที่มีพื้นที่ติดกับทะเล มีชายหาดทรายขาวทอดยาว เกาะแก่งต่างๆทัศนียภาพธรรมชาติสวยงามที่ทำให้นักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชม รวมถึงทรัพยากรป่าชายเลนที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนมีพื้นที่ป่าในเมืองขนาดใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางความเจริญของเมืองระยอง ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว และเมืองแห่งการเกษตร ดังนั้นป่าในเมืองจะอุดมสมบูรณ์และสวยงามได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล

ดังนั้น นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) นำทีมผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ผสานการทำงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป้องกันและปราบปรามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และชุมชมชายฝั่ง ผ่านเวทีการประชุมเครือข่ายภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 5 ในท้องที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด โดยมี ดร.แสงจันทร์ วายทุกข์ ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย พร้อมด้วย นางดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และ นายณัฐ โก่งเกษร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม จำนวน 150 คน ณ ห้องสร้อยเพชร 2 โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง จังหวัดระยอง เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมกับนำข้อมูลมาจัดทำกรอบแผนงานเพื่อปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งสร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง จะได้มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาและผลกระทบของปัญหาโลกร้อน อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ กรมฯ จะระดมการคิดวิเคราะห์แบบถี่ถ้วนรอบด้านให้ครอบคลุมทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และประชาชนอย่างเป็นองค์รวม เพื่อทุกคนจะได้ปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นายภุชงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลมาโดยตลอด พร้อมกันนี้ ได้สนับสนุนบุคลากร เรือตรวจการณ์ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงคอยให้คำปรึกษาในด้านกฎ ระเบียบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และฝึกอบรมภาคปฏิบัติในการลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบสถานการณ์ทางทะเลและป่าชายเลน จากการรายงานจำนวนชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ภาคตะวันออกพบว่า จังหวัดระยอง มีชุมชนชายฝั่งรวม 25 กลุ่ม/1,036 คน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลรวม 1,736 คน จังหวัดจันทบุรี มีชุมชนชายฝั่งรวม 20 กลุ่ม/536 คน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลรวม 949 คน และจังหวัดตราด มีชุมชนชายฝั่งรวม 39 กลุ่ม/1,065 คน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลรวม 1,382 คน

โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รองลงมาจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป สร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยซั้งกอ การจัดทำโครงการบ้านปลา ธนาคารปู การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และการจัดทำโฮมสเตย์พื้นบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราร่วมมือกันดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงทรัพยากรป่าชายเลน และสัตว์ทะเลหายากให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์นั้น เราทุกคนควรหันมาใส่ใจในสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น ช่วยกันสอดส่องดูแลทรัพยากรหน้าบ้านของตนเอง อีกทั้งรณรงค์ให้ชุมชนลดใช้ถุงพลาสติก ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ คูคลอง หรือบริเวณครัวเรือนและชุมชน อันจะนำไปสู่ปัญหาขยะทะเลในอนาคต

นอกจากนี้ ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชายฝั่ง ยังมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ปรับตัวเข้าสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อช่วยให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชนชายฝั่งได้อย่างยั่งยืน