วันที่ 18 เมษายน 2566 นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางเบฟเวอร์ลี่ แมคอาเธอร์ (Mrs.Beverley McArrthur) ดร.เรนี ฮีธ (Dr.Renee Heath) และ นายนิโคลัส แมคโกเวน (Mr.Nicholas McGowan) สมาชิกวุฒิสภาแห่งสภารัฐวิกตอเรีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการด้านแรงงาน โดยมี นายมานิตย์ พรหมการรีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องตรีเทพ 1 ชั้น 12 กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน
นายสุรชัย กล่าวว่า กระทรวงแรงงานยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงความสัมพันธ์ทั้งในด้านการศึกษา การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยกระทรวงแรงงาน พร้อมทำงานเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ มีโอกาสเดินทาง ไปราชการ ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ในการดูแลแรงงานไทย ในออสเตรเลีย ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้ง การผลักดันโอกาสในการจ้างงานให้แก่คนไทยในออสเตรเลีย โดยได้มีโอกาสหารือกับท่านรัฐมนตรี เบรนดัน โอคอนเนอร์รัฐมนตรีด้านทักษะและการฝึกอบรม กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ ออสเตรเลีย และแอนดริว ไจลส์ รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง สถานะพลเมือง และกิจการพหุ วัฒนธรรม ด้วย
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า การพบปะหารือในวันนี้ จะเป็นนิมิตรที่ดีที่จะเกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศ ในส่วนของกระทรวงแรงงานเองจึงขอความร่วมมือท่านวุฒิสมาชิกในฐานะตัวแทนรัฐวิกตอเรียพิจารณาสนับสนุนให้รัฐบาลออสเตรเลียพิจารณาเปิดโครงการวีซ่าแรงงานเกษตร ซึ่งเป็นสาขาที่ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพ เพื่อรองรับความต้องการแรงงานในรัฐวิกตอเรียเนื่องจากแรงงานไทยมีทักษะฝีมือที่สูง ขยันขันแข็ง และเป็นที่ต้องการจากประเทศต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีการส่งแรงงานไทยไปทำงานเกษตรที่อิสราเอลและเกาหลีใต้ เป็นต้น และทราบว่า ออสเตรเลียประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงขอความร่วมมือรัฐวิกตอเรียในการร่วมผลักดันให้รัฐบาลออสเตรเลียพิจารณารับผลการทดสอบภาษาอังกฤษของ TOEIC สำหรับการเดินทางไปทำงานในออสเตรเลียเพิ่มเติมนอกเหนือจากการสอบ IELTS เนื่องจากเป็นการทดสอบที่มีความยากอยู่ในระดับที่เหมาะสม
เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงานในออสเตรเลียมากขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาหลักสูตรฯ เพื่อรองรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในออสเตรเลีย เนื่องจากรัฐวิกตอเรียมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการพัฒนาแรงงานไทยให้มีสมรรถนะ สอดคล้องกับความต้องการของรัฐวิกตอเรียและประเทศออสเตรเลีย โดยการเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนผ่าน ทางด้านดิจิทัลและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย