กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งเตือนเกษตรกรและผู้ส่งออกระวังศัตรูมะม่วง “ด้วงงวงเจาะเมล็ด” เผยพบด้วงชนิดนี้โผล่ไปเกาหลีใต้ หวั่นกระทบตลาดส่งออกมะม่วงไทย เน้นคัดผลผลิตจากสวนที่ได้มาตรฐานตามหลัก GAP
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ขณะนี้พบด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง : Sternochetus olivieri (Faust) ซึ่งเป็นแมลงปีกแข็งที่เข้าทำลายกัดกินเมล็ดภายในผลมะม่วง และเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกมะม่วงไปยังประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 – 26 มิถุนายน 2562 รวม 12 ครั้ง สร้างความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท โดยขณะนี้เกาหลีใต้ยังไม่มีมาตรการรุนแรงเพื่อหยุดยั้งการนำเข้า แต่ได้รอดูท่าทีการแก้ไขและปฏิบัติเพื่อควบคุมการระบาดของด้วงงวงดังกล่าว ดังนั้น ประเทศไทยทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ส่งออก ภาครัฐ จึงจำเป็นต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เอาจริงเอาจัง เพื่อให้ปัญหาด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ เนื่องจากตลาดเกาหลีใต้ถือเป็นตลาดส่งออกมะม่วงที่สำคัญของไทยในขณะนี้ และมีปริมาณการส่งออกสูงสุดถึง 10,247,991 กิโลกรัม หากตลาดส่งออกที่เกาหลีใต้สะดุดหรือหยุดลงก็อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเป็นอย่างมาก กว่าจะกู้สถานการณ์ส่งออกให้กลับมาเหมือนเดิมคงต้องใช้เวลานาน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอความร่วมมือเกษตรกรและผู้ส่งออกให้ตระหนักและเอาจริงเอาจังต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย 1. ผู้ส่งออกต้องซื้อมะม่วงจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP เท่านั้น 2. เกษตรกรต้องดำเนินการผลิตตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม GAP เน้นการป้องกันและควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดที่ถูกต้อง
ลักษณะของด้วงงวงเจาะเมล็ด เป็นด้วงงวงปีกแข็งขนาดลำตัวกว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 8 มิลลิเมตร ตัวสีน้ำตาล ตัวหนอนจนถึงตัวแก่กัดกินเมล็ดมะม่วงภายในผล และเจาะออกมาภายนอกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง การเข้าทำลายด้วงงวงจะออกไข่ครั้งละ 8 – 10 ฟอง ช่วงมะม่วงติดผลอ่อน ตัวหนอนขนาด 1 มิลลิเมตร จะเจาะเข้าไปในผลทะลุเข้าไปในเมล็ดกัดกินเนื้อเมล็ดเป็นตัวหนอนขนาด 5 มิลลิเมตร อายุ 30 วัน แล้วเข้าสู่ดักแด้ขนาดกว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 8 มิลลิเมตร พักตัว 30 – 45 วัน และฟักเป็นตัวแก่ขนาดกว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 8 มิลลิเมตร เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะออกสู่ภายนอกหรืออาศัยกัดกินผลมะม่วงสุก เน่า หรืออินทรียวัตถุ และอาศัยตามดิน หรือรอยแตกของต้นมะม่วง และเมื่อมะม่วงติดผลใหม่ด้วงตัวแก่จะออกมาวางไข่อีกครั้งเป็นวัฏจักรอย่างนี้ต่อไป
การระบาดและแพร่กระจาย โดยปกติตัวด้วงจะเคลื่อนที่ช้า บินไปได้ไม่ไกล หากในแปลงปลูกมีการแพร่กระจายในระยะใกล้ ๆ หากไม่มีปัจจัยอื่นสนับสนุน เช่น ลมพัดพาไป การเคลื่อนย้ายผลผลิตไปแหล่งอื่น ๆ การนำมะม่วงไปแปรรูปแล้วทิ้งเมล็ดไว้ โดยไม่มีการควบคุมและกำจัดจากโรงงานแปรรูป – ร้านเพาะชำกล้ามะม่วงไม่ควบคุมกำจัดศัตรูด้วงงวง จะทำให้ปริมาณสะสมและย้อนกลับมาระบาดต่อไปโดยไม่สิ้นสุด
สำหรับการป้องกันและกำจัด 1. วิธีเขตกรรม ในสภาพแปลงปลูกให้ดูแลเก็บผลมะม่วงสุกที่ถูกด้วงเข้าทำลายหรือเผาทิ้ง ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง กำจัดวัชพืช พร้อมพรวนดินบริเวณทรงพุ่ม และหมั่นทำความสะอาดแปลงเสมอ 2) ทางเคมี พ่นสารเคมีอิมิดาคลอพริด อัตราส่วน 5 – 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และแลมป์ด้าไซฮาโลทริน อัตราส่วน 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์พริด 5.85 อัตราส่วน 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ พ่น ล้างต้นและลงดินเพื่อฆ่าตัวแก่ ในระยะมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อควบคุมเพลี้ยไฟ ราแอนแทรคโนส สารควบคุมเพลี้ยไฟ ควรใช้สารเคมีแลมป์ด้าไซฮาโลทริน หรืออิมิดาคลอพริด (สลับกันไปเพื่อป้องกันแมลงดื้อยา) ทุก ๆ 7 – 10 วัน ยกเว้นช่วงดอกบาน และทำการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชต่อไป ส่วนการดูแลต้องดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะด้วงงวงเจาะเมล็ด ให้ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มอิมิดาคลอพริด และแลมป์ด้าไซฮาโลทรินอัตราข้างต้น โดยเฉพาะระยะมะม่วงติดผลเล็ก ขนาดเมล็ดถั่วเขียวจนถึงระยะห่อผล สามารถควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดได้แน่นอน 3) การควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดนอกแปลงปลูก เมล็ดมะม่วงที่โรงงานนำมาแปรรูปแล้วควรควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดด้วยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูมะม่วง (กลุ่มอิมิดาคลอพริด หรือแลมป์ด้าไซฮาโลทริน เก็บไว้ในโรงที่ทำด้วยมุ้งลวดกันแมลงแพร่กระจาย สำหรับผู้ที่นำเมล็ดมะม่วงจากโรงงานมาทำการแกะเมล็ดเพาะเป็นกล้า ต้องชุบเมล็ดด้วยสารเคมีอิมิดาคลอพริด 5 – 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแลมป์ด้าไซฮาโลทริน 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ประมาณ 25 นาที หรือถ้าเป็นเมล็ดที่แกะแล้วควรฉีดพ่นทำลายแมลงตัวแก่ที่เมล็ด เพื่อเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดต่อไป 4) สำหรับการแก้ปัญหาการส่งออก ผู้ส่งออกต้องตระหนักและให้ความร่วมมือซื้อมะม่วงจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP เท่านั้น เพื่อลดปัญหาด้วงงวงเจาะเมล็ดกับมะม่วงที่ส่งออกไปยังปลายทาง และขอความร่วมมืออย่านำใบรับรอง GAP ของสวนอื่นไปสวมสิทธิ์ เพื่อซื้อขายส่งออก ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะมีมาตรการสุ่มตัวอย่างก่อนอบไอน้ำเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมาตรการป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์ให้รัดกุมมากขึ้น
********************************
อัจฉรา : ข่าว, มิถุนายน 2562
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
มนู โป้สมบูรณ์ ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล