กรมควบคุมโรค เตือนเกษตรกรลุยน้ำทำนา ระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู หากมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนเกษตรกรลุยน้ำในช่วงทำนา เสี่ยงติดเชื้อเลปโตสไปโรสิส ที่ทำให้เกิดโรคไข้ฉี่หนู หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังลุยน้ำ แนะหากมีอาการไข้  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปวดน่องหรือโคนขา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็ว

วันที่ 28 มิถุนายน 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วและเป็นช่วงที่เริ่มต้นฤดูการทำนา จึงขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องเดินลุยน้ำในแปลงนาที่มักจะมีน้ำขังเฉอะแฉะ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนูได้

จากข้อมูลเฝ้าระวังของสำนักระบาด กรมควบคุมโรค วันที่ 1 มกราคม – 23 มิถุนายน 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูจำนวน 828 ราย และเสียชีวิต 9 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 45-54 ปี  รองลงมา 35-44 ปีและ 55-64 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตร ร้อยละ 45.6 และรับจ้าง ร้อยละ 21.5 ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ศรีสะเกษ พังงา กระบี่ ยโสธร และยะลา

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า โรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะอยู่ในฉี่ของสัตว์ โดยเฉพาะหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรคหลัก ทั้งหนูนา หนูป่า หนูบ้าน หนูท่อ รวมทั้งสัตว์อื่นๆ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุนัข สุกร เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำหรือพื้นดินที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะ หากได้รับเชื้อจะมีอาการไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำย่ำโคลนให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด และทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคขอแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ดังนี้  1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง  2.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ  3.หลีกเลี่ยงการลงแช่น้ำที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งการใช้แหล่งน้ำร่วมกับสัตว์ เช่น โค กระบือ 4.ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากต้องเก็บไว้ขอให้ปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิดเพื่อไม่ให้หนูมาปัสสาวะรดได้ และ 5.กำจัดขยะให้ถูกต้องไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*******************************************************
ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค