นายกฯ – ครม.ร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นสิริมงคลรับสงกรานต์ วธ.ชวนประชาชน นักท่องเที่ยวร่วมงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ทำบุญตักบาตร เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ มอบความปรารถนาดีให้แก่กัน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ
วันที่ 11 เมษายน 2566 เวลา 08.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมรณรงค์ส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารวธ. เครือข่ายวัฒนธรรม ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566
ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ณ ทำเนียบรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี พร้อมครม. ร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป ชมการสาธิตชุดรดน้ำขอพร 4 ภาค การแสดงทางวัฒนธรรม โดย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอวยพรให้ประชาชนเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นปีใหม่ของไทย จากนั้น นายอิทธิพลได้มอบของที่ระลึกชุดรดน้ำขอพรให้แก่ นายกรัฐมนตรี และ ครม.
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี เสริมสร้างค่านิยมและความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีสงกรานต์ ประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย โดยในปี 2566 นี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่องค์การยูเนสโก ได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม 2566 นี้ จึงเป็นโอกาสเผยแพร่คุณค่าสาระ อัตลักษณ์ความงามของสงกรานต์ ประเพณีแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ได้เกิดการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของไทย
“ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค สำหรับในส่วนกลาง กำหนดจัดกิจกรรม ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบูรณาการจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ร่วมกับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพ มหานคร จัดกิจกรรม ณ ลานคนเมือง ร่วมกับสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล สำหรับในส่วนภูมิภาค กำหนดจัดกิจกรรมซึ่งเป็นการบูรณาการกับหน่วยงานและภาคส่วนที่พื้นที่เช่นกัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่” นายอิทธิพล กล่าว
ทั้งนี้ รายละเอียดของกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมจัดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า สวธ.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” อาทิ
1. งาน “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ในวันที่ 13 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. ณ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร กิจกรรมประกอบด้วย พิธีสรงน้ำพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พิธีรดน้ำขอพรผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและคณะทูตานุทูต การแสดงทางวัฒนธรรมไทย การสาธิตอาหารไทยและขนมไทย การสาธิตการละเล่นเด็กไทย การก่อเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น
2. งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2566 เวลา 16.00-20.00 น. ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สนับสนุนกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม ได้แก่ การแสดงดนตรีไทย (จากโรงเรียนดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์) การแสดงพื้นบ้าน ภาคกลาง (โดยแม่ครูบัวผัน สุพรรณยศ สถาบันส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) การแสดงพื้นบ้านภาคใต้มโนราห์ (โดยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร) การแสดงพื้นบ้านภาคเหนือและการแสดงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โดยสถาบันวัฒนธรรมฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และ กิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรม อาทิ การสาธิตเครื่องหอมไทยในเทศกาลสงกรานต์ การสาธิตข้าวแช่ชาววัง และมะยงชิดลอยแก้ว การสาธิตงานหัตถศิลป์ปีใหม่ไทย : พัดบุหงา / บุหงารำไป / มาลัยผ้าเช็ดหน้า / การพับใบเตยหอม การสาธิตกวนกาละแม การสาธิตการละเล่นสะบ้ามอญ/บ่อนสะบ้า การสาธิตการทำตุงไส้หมู (ภาคเหนือ) การสาธิตการทำมาลัยกรจากผ้าขาวม้า (ภาคกลาง) และการสาธิตการทำลูกปัดโนรา-สืบสานตำนานโนราเติม วิน วาด (ภาคใต้)
3. งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทย พุทธศักราช 2566 ระหว่างวันที่ 8-15 เมษายน 2566 ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย สรงน้ำพระพุทธรูป ออกร้านอาหารไทย สินค้าทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การการแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค ประกอบด้วย ระบำตารีกีปัส ระบำตุมปัง ฟ้อนขันดอก ฟ้อนนกกิงกะหร่า เอิ้นขวัญ ภูไทสามเผ่า เอ้ดอกคูณ และเพลงพื้นบ้านภาคกลาง
4. สนับสนุนสภาวัฒนธรรม 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดกิจกรรมสืบสานคุณค่าสาระประเพณีสงกรานต์ กับสำนักงานเขต 50 เขต ของกทม. ในช่วงประเพณีสงกรานต์
5. วธ.โดยกรมศิลปากร ร่วมกับสยามพารากอนจัดงาน “สงกรานต์ประเพณีไทย สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” โดยอันเชิญพระพุทธรูป สำคัญ 9 องค์ มาให้ประชาชนได้สักการะ รดน้ำขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ปี 2566 วันที่ 12-16 เมษายน 2566 ณ แฟชั่น แกลลอรี่ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ประกอบด้วย 1.พระพุทธรูปปางถวายเนตร 2. พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร 3. พระพุทธรูปไสยาสน์ 4. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร 5. พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ (พระพุทธรูปบูชาแทนพระราหู) 6. พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) 7. พระพุทธรูปปางรำพึง 8. พระพุทธรูปปางนาคปรก และ 9.พระเกตุพระหายโศก ปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ) โดยมีการสาธิตน้ำอบน้ำปรุง การทำแป้งพวง และการร้อยมาลัยดอกไม้ด้วย
6. งานเทศกาล “สงกรานต์วัดพระเชตุพน” ประจำปี ๒๕๖๖ พร้อมชมการสาธิตศิลปะแม่ไม้มวยไทย โดยแชมป์มวยไทย เยี่ยมชมกิจกรรมและการออกร้านภายในวัดอีกมากมาย
7. ในส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายจังหวัด จัดงาน “สืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ “สืบสานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองวิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” 12-15 เม.ย. 2566 ณ วัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” 12-16 เมษายน 2566 ณ เฮือนโบราณวิถีไทบ้านขอนแก่น หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน 16-17 เม.ย. 2566 ณ บริเวณชายหาดบางแสน และ วัดจุฑาทิศธรรม อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดสมุทรปราการ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ระหว่าง 21-23 เม.ย. 2566 ณ ลานที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดนครศรีธรรมราช งานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร(วิถีพุทธ-พราหมณ์) 13-14 เม.ย. 2566 และ จังหวัดกระบี่ สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล วันที่ 10-11 เมษายน 2566 ณ บริเวณศาลากลางจังหวัด อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
นอกจากนี้ สวธ. ยังได้จัดพิมพ์หนังสือประเพณีสงกรานต์ 2566 ในแบบ 2 ภาษาไทยและอังกฤษ และวีดิทัศน์รณรงค์เพื่อเผยแพร่สร้างความรู้ ความเข้าในประเพณีสงกรานต์ให้คนไทยและชาวต่างชาติ โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และข้อมูลทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th หรือ เฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ line@วัฒนธรรม