ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรี ไทย-ชิลี ครั้งที่ 3 เพื่อติดตามการดำเนินการตามข้อผูกพันการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน เน้นการเร่งยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิม พร้อมหารือถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองการขยายตัวของตลาดและบทบาทที่เพิ่มขึ้นของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สองฝ่ายปลื้ม ตั้งแต่ FTA มีผล ดันการค้าขยายตัวกว่าร้อยละ 38
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรี ไทย-ชิลี ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (Thailand – Chile FTC: TCFTC) เมื่อวันที่ 20-21 มิถุนายน 2562 ณ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อติดตามการดำเนินการตามข้อผูกพันการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน โดยที่ประชุมฯ หารือถึงความเป็นไปได้ในการเร่งยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการให้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2566 เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัว นอกจากนี้ ยังหารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ การแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนการค้า การจัดสัมมนาทางธุรกิจ ตลอดจนความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านการเชื่อมโยงเว็บไซต์ Thaitrade.com ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับ National E-Marketplace ของชิลี เพื่อส่งเสริมการค้าสองฝ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ การแลกเปลี่ยน Banner ระหว่างเว็บไซต์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ซื้อผู้ขาย และการใช้ Electronic Direct Mail เพื่อทำตลาดออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งกรมฯ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและชิลีในรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญชิลีเข้าร่วมงาน ASEAN Smart City และงาน Digital Big Bang 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 22-24 สิงหาคม 2562 และ 28-31 ตุลาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ ด้วย
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ทั้งสองประเทศได้ทยอยยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเป็น 4 ช่วง คือ (1) ยกเลิกภาษีนำเข้า 87-91% ของรายการสินค้าทั้งหมดในปี 2558 (2) ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอีก 2-4% ในปี 2561 (3) ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มอีก 2-8% ในปี 2563 และ (4) ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการที่เหลือจนครบ 100% ในปี 2566 โดยหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ การค้าระหว่างไทยกับชิลีขยายตัวเป็นที่น่าพอใจจาก 895 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 เป็น 1,231 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 (ขยายตัวร้อยละ 38) เป็นการส่งออกจากไทยไปชิลี 779 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 2560 และเป็นการนำเข้าจากชิลี 452 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปี 2560 ทั้งนี้ จากข้อมูลการส่งออกในปี 2561 พบว่า ไทยส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอร้อยละ 98.85 ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเอฟทีเอกรอบอื่นๆ ของไทย โดยสินค้าที่ใช้สิทธิ เช่น รถบรรทุก ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องซักผ้า และปูนซีเมนต์ เป็นต้น สำหรับการนำเข้าจากชิลี มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเอฟทีเอร้อยละ 75 ของการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิ โดยสินค้าที่ใช้สิทธิ เช่น องุ่น เชอรี่ และไวน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2561 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปชิลี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ปูนซีเมนต์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากชิลีมาไทย เช่น สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ผักผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นต้น
———————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
28 มิถุนายน 2562