วันที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสงกรานต์ ปี 2566 “สงกรานต์ปลอดภัย สาดสุข เคารพสิทธิ” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “สงกรานต์ปลอดภัย สาดสุข เคารพสิทธิ… เราทำได้” ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีอันดีงามของไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่ทุกปีจะถูกจับตาเรื่องอุบัติเหตุทางถนน เพราะประชาชนเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนาจำนวนมาก รวมถึงปัญหาการล่วงละเมิด การคุกคามทางเพศ พฤติกรรมเล่นน้ำที่ไม่เหมาะสม ทะเลาะวิวาท โดยเฉพาะกรณีที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น ปีนี้ทีม One Home พม. จังหวัดทุกจังหวัด และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมรณรงค์ลงพื้นที่แจกสติกเกอร์ และติดป้าย “สงกรานต์ปลอดภัย สาดสุข เคารพสิทธิ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ และ ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พัฒนาช่องทางการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม (Emergency Social Service : ESS) หรือ ESS Help Me ปักหมุด หยุดเหตุ ผ่าน Line Chat Bot เพื่อแจ้งระงับเหตุด่วน 5 ประเภท
1. ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้ายร่างกาย
2. กักขังหน่วงเหนี่ยว
3. เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ
4. ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย
5. มั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้าย
หรือสามารถแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 ฟรี 24 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่พร้อมช่วยเหลือเต็มที่ ในโอกาสวันสงกรานต์ ขอให้ทุกคนเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น ลดปัจจัยเสี่ยง ไม่กระทำความรุนแรงในทุกมิติ
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานสถานการณ์สงกรานต์ ปี 2565 ว่า พบการเดินทางเพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 2564 มีผู้เสียชีวิต 278 คน เพิ่มขึ้นเพียง 1 คน จากปี 2564 ส่วนการดื่มแล้วขับที่เป็นเหตุให้เสียชีวิต ลดจาก 21.5% ในปี 2564 เหลือ 16.5% ในปี 2565 แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตคาที่เพิ่มขึ้นจาก 50 % เป็น 60 % ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วที่มีการชนรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตในทันที ส่วนผู้บาดเจ็บพบว่า 1 ใน 4 มีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด นอกจากนี้ข้อมูลกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ปี 2565 พบคดีเมาแล้วขับ เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ สูงถึง 7,141 คดี ปีนี้ สสส. จึงเน้นย้ำเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันและลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง การละเมิดสิทธิ์ ปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 พื้นที่ ถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้า 60 แห่ง เนื่องในวันสงกรานต์ปีนี้ สสส. ฝากทุกคนว่าดื่มไม่ขับ แค่กรึ่มๆ ก็ถึงตาย แม้เพียงแก้วเดียวก็เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ 2-6 เท่า และขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันลดความสูญเสีย
น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาค มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล 1,725 คน ระหว่างวันที่ 24 – 30 มีนาคม เกี่ยวกับวันสงกรานต์ พบว่า 96.5 % เคยหรือมีคนรู้จักเคยถูกปะแป้ง 87.9 % ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมอง ทำให้อึดอัด 84.9% เกิดอุบัติเหตุ 82.4% ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 73.8% ทะเลาะกันในครอบครัว ส่วนวิธีแก้ปัญหาเมื่อถูกลวนลาม พบเลือกแจ้งความ 37% ตะโกนให้คนช่วย 20.2% บอกผู้ใหญ่ 11.5% ที่น่ากังวลคือมี 8.1% ไม่กล้าบอกใคร สำหรับหน่วยงานที่นึกถึง เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่ปลอดภัย คือ สถานีตำรวจ 55.5% ศูนย์แจ้งเหตุในพื้นที่เล่นน้ำ 20.9% เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 13.4% เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากให้คงไว้ในวันสงกรานต์คือ การเยี่ยมญาติ/รวมญาติ 29.9% เล่นน้ำปลอดภัยไม่รุนแรง 23.5% และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 18.2% สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการลวนลามทางเพศ 35.5 % อุบัติเหตุ 22.5 % คนเมาขาดสติ การทะเลาะวิวาท การไม่เคารพสิทธิคนอื่น จึงขอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการลวนลามทางเพศ กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดแอลกอฮอล์ ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศทุกวัย
น.ส.วิริฒิพา ภักดีประสงค์ (วุ้นเส้น) นักแสดง พิธีกร กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศมีมาตลอดและเป็นปัญหาทั่วโลก ปัจจุบันยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะการคุกคามผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมยาก ส่วนตัวก็เคยมีประสบการณ์ ช่วงที่ออก Event มีการแต่งกายหลายรูปแบบ รวมถึงแต่งกายเซ็กซี่ จะถูกแอบถ่ายในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม คนใกล้ตัวก็เคยโดน การป้องกันแก้ไข คือ ตำรวจลงโทษผู้ที่ละเมิดทางเพศผู้อื่น สถาบันครอบครัวต้องปลูกฝังจิตสำนึกทัศนคติที่ดีเรื่องเพศให้ลูกหลานตัวเอง สิ่งสำคัญอย่าโยนบาปให้ผู้หญิงว่าแต่งตัวให้มีความเสี่ยงเอง แต่ไม่ว่าจะแต่งแบบไหน แต่งเพราะแฮปปี้ที่จะแต่ง คนอื่นก็ไม่ควรคุกคามทางเพศ คนที่คุกคามผู้อื่นจึงเชื่อได้ว่ามีความผิด 100% เพราะการแต่งตัวของผู้หญิง ไม่ผิดอะไรเลย แม้จะแต่งตัวมิดชิดก็ยังถูกคุกคามได้ สงกรานต์ปีนี้รู้ว่าทุกคนอัดอั้นมานาน แต่ต้องมีสติ มีขอบเขต เคารพสิทธิ เนื้อตัวผู้อื่น เล่นแบบมีอารยะไม่เกินเลย
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม