รฟท. ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการตำรวจรถไฟ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการตำรวจรถไฟ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ในการดูแลประชาชน

โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดโครงการฯ ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นวิทยากรพิเศษในการบรรยาย

โดยมี พลตำรวจตรี ชัยรพ จุณณวัตต์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ผู้บริหารกองบังคับการในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บริหารการรถไฟฯ เข้าร่วมงาน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการให้บริการ อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่จิตอาสา 904 สังกัดการรถไฟฯ ตำรวจจิตอาสาสังกัดกองบังคับการตำรวจรถไฟ พนักงานและลูกจ้างการรถไฟฯ ในการดูแลประชาชน เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และได้รับการฝึกฝนอย่างชำนาญ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างถูกวิธี ก่อนนำส่งสถานพยาบาลเพื่อลดการสูญเสียชีวิต

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ได้จัดให้มีห้องปฐมพยาบาล พร้อมเจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพประจำสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้โดยสาร กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ส่วนด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่มากกว่า 1,100 ตัว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกสถานี รวมถึงยังมีหุ่นยนต์ต้อนรับ รถเข็นอัจฉริยะ และระบบรักษาความปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ยกระดับคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยขั้นสูงในสถานีด้วยเทคโนโลยี 5G สามารถตรวจจับความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารและแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ พร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้ มีการติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า (AED) ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีอื่นๆ รวมทั้งบนขบวนรถ สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในกรณีฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ เป็นนโยบายของการรถไฟฯ ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาการให้บริการด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นหลักอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความพึงพอใจสูงสุดต่อไป