กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยหลายรัฐในสหรัฐฯ ทั้งแมรี่แลนด์ ฮาวาย และวอชิงตัน กำลังผลักดันกฎหมายห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและโฟมในธุรกิจบริการอาหาร ชี้เป็นโอกาสของผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย ที่จะผลิตสินค้าที่ใช้ทดแทน และส่งออกเจาะเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ
น.ส.อุษาศรี เขียวระยับ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ในปีนี้ รัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้มีกฎหมายการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและโฟม ทั้งในส่วนของธุรกิจบริการอาหาร (ภัตตาคารและร้านอาหาร) และสำหรับผู้บริโภค โดยล่าสุดมีรัฐแมรี่แลนด์ ฮาวาย และวอชิงตัน ที่กำลังเสนอร่างกฎหมายเพื่อออกเป็นข้อบังคับใช้ เพราะคนอเมริกันต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ที่ต้องการช่วยลดและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐแมรี่แลนด์ สภานิติบัญญัติของรัฐได้เสนอร่างกฎหมายห้ามธุรกิจบริการอาหารใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากPolystyrene Foam ให้ผู้ว่าการลงนามเป็นกฎหมาย และน่าจะเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ห้ามธุรกิจบริการอาหาร ใช้บรรจุภัณฑ์ กล่องบรรจุอาหาร และถ้วยทำจากวัสดุ Polystyrene Foam เพราะถือเป็นวัสดุที่มีความทนทานและกันน้ำ แต่เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการนำไปรีไซเคิล และเมื่อวัสดุโฟมที่แตก จะกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อให้เกิดมลภาวะในน้ำและตามท้องถนน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่รัฐฮาวาย วุฒิสภาของรัฐฮาวายได้ผ่านร่างกฎหมายห้ามมิให้มีการจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก ประเภทเครื่องดื่มขวด เครื่องใช้ไม้สอย กล่องบรรจุอาหาร ถุงพลาสติก หลอดดูด และยังมีกฎหมาย SB11 ห้ามมิให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร เสริฟอาหารในบรรจุภัณฑ์ Polystyrene และกฎหมาย SB367 ห้ามมิให้บาร์ ภัตตาคารให้กล่องใส่อาหารที่ทำจากวัสดุ Polystyrene รวมทั้งหลอดดูด และถุงพลาสติกแก่ลูกค้า ซึ่งกฎหมายกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนของรัฐ
ส่วนวอชิงตัน วุฒิสภาของรัฐวอชิงตันได้ผ่านร่างกฎหมาย Senate Bill 5323 บังคับการห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วรัฐวอชิงตัน ซึ่งขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายอนุญาตให้ร้านค้าใช้ถุงกระดาษรีไซเคิลแก่ลูกค้าและถุงพลาสติกที่นำกลับมาใช้ได้อีก และย่อยสลายได้ ซึ่งต้องเป็นถุงที่ตรงตามข้อกำหนดและกฎหมายบังคับให้ร้านคิดเงินค่าถุงใบละ 8 เซนต์จากลูกค้า
“ปัจจุบันการออกระเบียบการห้ามใช้พลาสติกและโฟมได้ขยายตัวเข้าสู่ระดับมลรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลดลง มีผลต่อการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบหรือเม็ดพลาสติก แต่ในทางกลับกัน กฎหมายได้เปิดโอกาสให้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบย่อยสลายได้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย ที่หากผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ หรือผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติกได้ ก็จะมีโอกาสในการส่งออกและทำตลาดในสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น”น.ส.อุษาศรีกล่าว
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก โทร 001-1-312 787-3388 หรือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือช่องทางสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ