อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงข่าวกรณีป.ป.ช.ให้ตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยในการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้กับภรรยา 6 % เผยดำเนินการตามหลักการ สามารถตรวจสอบได้

ตามที่มีการนำเสนอข่าวว่า ป.ป.ช ได้มีหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการทางวินัยกับนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่ามีการกระทำผิดต่ออำนาจหน้าที่ ในการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้กับภรรยา 6% ประจำรอบการประเมินที่ 1 (1 ตุลาคม 2558 – 31 มีนาคม 2559) นั้น

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่ากระบวนการในการเลื่อนขั้นเงินเดือน เป็นการดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนที่สุด ที่นร. 1008.1/ว28 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 เรื่องการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ. ศ. 2551  โดยผู้บริหารหน่วยงานสามารถจัดสรรวงเงินให้กับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ได้ กรมอุทยานแห่งชาติฯจึงได้จัดสรรวงเงินในการพิจารณาขั้นเงินเดือนของข้าราชการในสังกัด ให้กับผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ สามารถบริหารวงเงินในการพิจารณาขั้นเงินเดือนได้ อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบ กรมอุทยานแห่งชาติฯได้ดำเนินการจัดทำประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีกลไกสนับสนุนความโปร่งใสและเป็นธรรมในการพิจารณาขั้นเงินเดือน โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ทั้งในระดับสำนัก/กอง/กลุ่มงาน และระดับกรม เพื่อเพิ่มความรอบคอบในการพิจารณาขั้นเงินเดือนอย่างรัดกุมแล้ว อีกทั้งในรอบการประเมินเดือนตุลาคม 2558 -มีนาคม 2559 ก็มีผู้ได้รับการประเมินขั้นเงินเดือนในอัตรา 6% มากกว่า 10 ราย ซึ่งเป็นการพิจารณามาจาก สำนัก/กอง/กลุ่มงาน และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯแล้ว ก่อนที่จะมาถึงตน

สำหรับกรณีป.ป.ช มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการแจ้งให้ทราบถึงผลการพิจารณาของป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64 ซึ่งระบุว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่มีการกล่าวหาเรื่องใด มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง หรือกล่าวหาในเรื่องที่มิได้อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้อง ดําเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอํานาจก็ได้” ดังนั้น จึงไม่ใช่หนังสือที่ป.ป.ช.สั่งลงโทษตนแต่ประการใด เนื่องจากป.ป.ช.พิจารณาแล้ว เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความผิดร้ายแรง หรืออาจเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของป.ป.ช. จึงได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาเพียงเท่านั้น

ส่วนมูลเหตุของการส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวข้างต้นไปยัง ป.ป.ช. คาดว่ามาจากการผูกใจเจ็บของอดีตข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติฯรายหนึ่ง ซึ่งถูกชุดเฉพาะกิจศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ (ศปก.พป.) และหน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ บุกเข้าตรวจยึดดำเนินคดีกรณีการยึดถือครอบครองก่อสร้างบ้านพักส่วนตัว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานีควบคุมไฟป่าในพื้นที่จังหวัดตาก โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่มีผู้ร้องเรียนมาให้เข้าตรวจสอบ และศาลจังหวัดตากก็ได้มีคำพิพากษาไปแล้วว่า ผู้บุกรุกได้กระทำผิดตามฟ้องจริง จึงมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและปรับจำเลย แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ เรื่องดังกล่าวจึงสร้างความโกรธแค้นให้กับข้าราชการรายนี้ จึงพยายามกล่าวหา ใส่ความ หาเรื่องร้องเรียนผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาโดยตลอด

 

 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช