ฝุ่นนอกรั้วตัวร้าย รู้ทัน ป้องกันได้

ช่วงนี้อากาศในประเทศไทยเต็มไปด้วยฝุ่นมลพิษ PM2.5 โดยมีค่ามลภาวะทางอากาศสูงมากติดอันดับต้น ๆ ของโลก ฝุ่น PM2.5 หลายคนคงคุ้นชื่อ แต่ทราบหรือไม่ว่าฝุ่นมลพิษนี้ทำร้ายร่างกายเราอย่างไรบ้าง มีผลเสียต่อร่างกายและผิวหนังอย่างไร ด้วยขนาดที่เล็กมาก ๆ จนเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และในบ้างครั้งดูคล้ายกับมีหมอกหรือควัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ การเผาขยะ เผาหญ้า หรือเผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงานนั่นเอง

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วง ธ.ค.- มี.ค. ของทุกปี หลายหน่วยงานได้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงเกิดความร่วมมือเพื่อสร้างโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน หรือ “ฝุ่นนอกรั้ว” ขึ้น เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละออง และรับมือสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน โดยเน้นการให้ความรู้พื้นฐานกับนักเรียน เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้ ได้เรียนรู้เป็น Active Citizen และคำนึงถึงอันตรายของฝุ่น PM2.5 ไปด้วยกัน จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ให้กับเยาวชนสามารถนำไปบอกต่อยังคนใกล้ชิด และสามารถดูแลป้องกันตัวเองได้

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ThaiPBS และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “ฝุ่นนอกรั้ว” ถอดบทเรียนฝุ่นศึกษาจากโรงเรียนในสังกัด กทม. ขึ้น เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายทอดความรู้ของครูในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทั้ง กทม. ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ นำไปถอดบทเรียนและจัดทำสรุปออกแบบเชิงปฏิบัติการ ต่อยอดแนวทางความรู้ด้านฝุ่นศึกษาให้เข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชน อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญเรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม การจัดการพื้นที่สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการมลพิษจากระบบขนส่งมวลชน การเผาในที่แจ้ง และการทำงานระหว่างชุมชน โดยเน้นไปที่การจัดการพื้นที่ให้พร้อมรับกับปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เสริมพลังให้กับทีมทำงานในท้องถิ่น โดยเน้นไปที่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลให้กับครอบครัว และชุมชนต่อไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และคำนึงถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจนี้จะถูกถ่ายทอดให้กับครูในพื้นที่เพื่อนำไปประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าว่า “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่ กทม. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมุ่งหวังสร้างพื้นที่ต้นแบบในโรงเรียนในการรับมือฝุ่นในพื้นที่วิกฤต เป็นการสร้างพลเมืองตื่นรู้ เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์วิกฤต สามารถปกป้อง ดูแลตนเอง และส่งต่อความรู้ที่ได้รับให้กับคนในครอบครัวได้อย่างทันท่วงที ก่อให้เกิดความร่วมมือในชุมชนและท้องถิ่น เกิดทักษะในการปรับตัว และการสื่อสารสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองในสถานการณ์วิกฤตด้านฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของตนเอง และคนในชุมชนต่อไป

“นอกจากนี้ กทม. ยังได้ดำเนินกิจกรรมปักธงสุขภาพ เพื่อแจ้งเตือนฝุ่น มีการอ่านค่าจากเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ถือเป็นโอกาสดีที่เราได้เรียนรู้ว่าค่าฝุ่นเป็นอย่างไร ธงแต่ละสีมีความหมายอย่างไร ระบบธงสุขภาพในโรงเรียนจึงมีความจำเป็นสำหรับนักเรียนในการเตรียมรับมือสู้กับภัยฝุ่น PM2.5 เพื่อให้นักเรียนปลอดภัยจากภัยฝุ่น PM2.5” นายศานนท์ กล่าว

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบในพื้นที่กลางแจ้งภายนอกอาคารเท่านั้น หากแต่พื้นที่ในอาคารยังตรวจพบฝุ่นละออง PM2.5 จากการถ่ายเทของอากาศจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในอาคารผ่านช่องประตู หรือหน้าต่าง หากสภาพแวดล้อมของภายนอกอาคารนั้น ๆ มีค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 สูง จะส่งผลให้พื้นที่อาคารมีค่าสูงไปด้วย และส่งผลกระทบต่อผู้อาศัย บุคลากรที่ทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในพื้นที่อาคาร บุคคลเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคารและอาจผลกระทบต่อสุขภาพและตัวบุคคลได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในโรงเรียน

หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องและยาวนาน สสส. มีความเชื่อมั่นว่าการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเริ่มจากพลังเล็ก ๆ ของเด็กและเยาวชน จะค่อย ๆ ขยายผลเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สร้างความมั่นคงและแข็งแรงในการป้องกันและแก้ไขภาวะวิกฤตนี้ได้ รวมทั้งสร้างค่านิยมใหม่ สู่การพัฒนาชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดมลภาวะ สร้างอากาศสะอาดและสังคมไร้มลพิษได้อย่างยั่งยืน

เรื่องโดย  จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานเสวนา “ฝุ่นนอกรั้ว” ถอดบทเรียนฝุ่นศึกษาจากโรงเรียนในสังกัด กทม.