คปภ. ลงพื้นที่ทันทีให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “รถตู้ ชนรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ” เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮย 9180 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ  หมายเลขทะเบียน 81-8978 นครศรีธรรมราช ส่วนต่อพ่วง หมายเลขทะเบียน 81-9208 นครศรีธรรมราช เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย เหตุเกิดบนถนนทุ่งใหญ่-ทุ่งสง หมู่ 8 ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับ
สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ลงพื้นที่ทันที โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮย 9180 กรุงเทพมหานคร พบข้อมูลการทำประกันภัยภาคบังคับกับ บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 8 กันยายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 8 กันยายน 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน

นอกจากนี้รถยนต์ตู้ได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 3+) กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 5 กันยายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายตัวรถยนต์ 100,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อเสียชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวน 600,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคล ผู้ขับขี่เสียชีวิต จำนวน 1 คน 50,000 บาท และผู้โดยสารเสียชีวิต จำนวน 11 คน จำนวน 50,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 12 คน จำนวนคนละ 50,000 บาทต่อครั้ง และประกันตัวผู้ขับขี่ จำนวน 100,000 บาทต่อครั้ง

ด้านรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ส่วนหัวหมายเลขทะเบียน 81-8978 นครศรีธรรมราช พบทำประกันภัยภาคบังคับกับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 1 เมษายน 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และพบการทำประกันภัยภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อเสียชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายตัวรถยนต์ 1,050,000 บาทต่อครั้ง สูญหาย ไฟไหม้ 1,050,000 บาท ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคล ผู้ขับขี่ จำนวน 1 คน 50,000 บาท และผู้โดยสาร จำนวน 2 คน จำนวน 50,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล จำนวน 50,000 บาทต่อครั้ง และประกันตัวผู้ขับขี่ จำนวน 350,000 บาทต่อครั้ง

สำหรับส่วนพ่วงหมายเลขทะเบียน 81-9208 นครศรีธรรมราช พบทำประกันภัยภาคบังคับกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 มิถุนายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 มิถุนายน 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และพบการทำประกันภัยภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครอง                      วันที่ 27 เมษายน 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อเสียชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายตัวรถยนต์ 300,000 บาทต่อครั้ง สูญหาย ไฟไหม้ 300,000 บาท

ทั้งนี้ การติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ในเบื้องต้นทายาทโดยธรรมของผู้ขับขี่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮย 9180 กรุงเทพมหานคร ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต จะได้รับค่าสินไหมทดแทน จำนวน 85,000 บาท จากการทำประกันภัยภาคบังคับในส่วนที่เป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท และจากการประกันภัยภาคสมัครใจในส่วนค่าสินไหมทดแทนจากความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 50,000 บาท ส่วนทายาทโดยธรรมของผู้โดยสารรถยนต์ตู้ที่เสียชีวิต 5 ราย จะได้รับเงินเอาประกันภัยรายละจำนวน 550,000 บาท จากประกันภัยภาคบังคับ 500,000 บาท และจากการประกันภัยภาคสมัครใจในส่วนค่าสินไหมทดแทนจากความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 50,000 บาท โดยสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช จะอำนวยความสะดวกและติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม สิทธินอกเหนือจากนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสาร และผลของคดีการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช จะเร่งติดตามผลคดี และติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยเร็วที่สุด

ส่วนผู้บาดเจ็บ 5 ราย สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประสานไปยังโรงพยาบาลทุ่งใหญ่ เพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย