นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 161.78 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 เนื่องจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยรวมถึงคนไทยมีการเดินทางในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.3 การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ขณะที่ LPG และน้ำมันก๊าดมีการใช้ลดลงร้อยละ 0.6 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.25 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 สำหรับการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.84 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากส่วนต่างราคาเพียงเล็กน้อยของค่าเชื้อเพลิงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราสิ้นเปลืองอาจส่งผลทำให้ปริมาณการใช้ แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี20 แก๊สโซฮอล์ อี85 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 6.94 ล้านลิตร/วัน 5.72 ล้านลิตร/วัน 0.27 ล้านลิตร/วัน และ 0.47 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.41 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.5 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 การปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.50 บาท/ลิตร ในเดือนกุมภาพันธ์ และการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวนสูง สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.48 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.66 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.11 ล้านลิตร/วัน และ 0.16 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 14.05 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 104.3 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
การใช้ LPG เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.13 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.6 โดยเป็นการลดลงของภาคปิโตรเคมีลดลงมาอยู่ที่ 6.63 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 11.0 ขณะที่การใช้ในภาคขนส่ง อยู่ที่ 2.32 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 6.11 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 2.08 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9
การใช้ NGV เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.52 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 เป็นผลมาจากการเดินทางของประชาชนเพิ่มมากขึ้นหลังช่วงเทศกาลปีใหม่
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,125,471 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.3 เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,029,451 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 93,240 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96,020 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 8,273 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 135,679 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 11.9 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 13,788 ล้านบาท/เดือน