กฟผ. จัดโครงการเพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม รุ่นที่ 11 ปลูกฝังเยาวชนให้มีจิตอาสาพัฒนาสังคมไทยตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

กฟผ. เปิดโครงการ กฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม รุ่นที่ 11 คัดเลือกนักศึกษาจาก 10 สถาบัน ร่วมกิจกรรมทำความดีเพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมผ่านค่ายอาสาเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 27 มิถุนายน 2562 นายศานิต นิยมาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โครงการ กฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม (ค่ายเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.) เกิดจากแนวคิดที่ กฟผ. ให้ความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของประเทศชาติ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ดำเนินการในรูปแบบค่ายเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ในการเป็นจิตอาสา ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดให้กับชุมชน พร้อมทั้งปลูกฝังการเป็นผู้นำที่เสียสละและมีจิตสาธารณะ โครงการนี้มีนักศึกษาจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วม 37 กลุ่ม ผ่านการคัดเลือก 10 กลุ่ม จาก 10 สถาบัน ได้รับทุนสนับสนุนจาก กฟผ. กลุ่มละไม่เกินหนึ่งแสนบาท และจัดปฐมนิเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 18 – 21 มิถุนายน 2562 ณ เขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

นายศานิต นิยมาคม กล่าวต่อไปว่า โครงการ กฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม รุ่นที่ 11 ได้คัดเลือกโครงการค่ายอาสาพัฒนาจาก 10 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สถาบันละ 1 กลุ่ม เพื่อออกค่ายระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2562 ได้แก่ “โครงการมดอาสาพัฒนาชุมชน ตามรอยศาสตร์พระราชา” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี “โครงการวิศวะอาสา นำพานวัตกรรม น้อมนำปรัชญา พัฒนาชุมชน” มหาวิทยาลัยนครพนม “โครงการจิตอาสาพัฒนาแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวิถีเกษตรธรรมชาติ ชุมชนศิริราษฎร์ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย” มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย “โครงการพลิกฟื้น คืนน้ำคืนดิน ทำมาหากินตามวิถีพอเพียง” มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี “โครงการครูบ้านนอกสร้างสรรค์ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ 8 ตอน บัณฑิตจิตอาสาสานต่อพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง” มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง “โครงการค่ายราชภัฏร่วมใจอาสาพัฒนาท้องถิ่น ปี 9 ตอน สหกรณ์กับเศรษฐกิจพอเพียง” มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ “โครงการสร้างสรรค์สังคมกับคนหลังเลนส์” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา “โครงการ zero waste อาเนาะรู” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “โครงการค่ายจิตอาสา กฟผ. เพื่อน้อง” มหาวิทยาลัยสยาม และ “โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม สื่อและหนังสือนิทานจากพี่สู่น้องปฐมวัย” วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู โดยในเบื้องต้นนักศึกษาทั้ง 10 สถาบันได้ลงพื้นที่พบปะกับชุมชนเพื่อสำรวจความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริงแล้ว และระหว่างการออกค่ายช่วงเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2562 นักศึกษาและชุมชนจะลงภาคปฏิบัติร่วมกันพัฒนาโครงการที่ได้นำเสนอไว้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยจะมีคณะกรรมการติดตามผลงานอย่างใกล้ชิดตลอดโครงการ เพื่อค้นหาสุดยอดค่ายอาสา ทั้งนี้จะพิจารณาเกณฑ์การตัดสินจากการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน 4 ด้าน คือ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ การมีส่วนร่วมในการรับประโยชน์ และการมีส่วนร่วมในการประเมินผล ซึ่งรางวัลแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ค่ายดีเลิศ 15,000 บาท ค่ายดีเยี่ยม 10,000 บาท และค่ายดีเด่น 5,000 บาท สำหรับโครงการที่ชนะการประกวด กฟผ. จะพัฒนาต่อยอดให้กับชุมชนในลักษณะภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

กฟผ. ดำเนินโครงการ กฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคมมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมุ่งส่งเสริมเยาวชนไทยให้มีภาวะผู้นำ กล้าคิดกล้าทำอย่างสร้างสรรค์ สามารถเป็นอนาคตของชาติที่จะสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน ที่ผ่านมามีเยาวชนเข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 3,000 คน สามารถจัดทำโครงการที่ก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวมในด้านต่างๆ ไปแล้วกว่า 150 โครงการ อาทิ การพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร การนำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพัฒนาชุมชน โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเรียนของเยาวชนในชนบทที่อยู่ห่างไกล เป็นต้น นับเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติอย่างแท้จริง นายศานิต นิยมาคม กล่าวในตอนท้าย

———————————————