ปลัดกระทรวงแรงงาน สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เข้าตรวจสอบหาสาเหตุและให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์เต็มที่ กรณีโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลาทำสารแอมโมเนียรั่ว เป็นเหตุให้ลูกจ้างหมดสติหลายราย และอพยพนับร้อย พร้อมเตือนนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีก
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานที่สำคัญจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ว่าเกิดเหตุโรงงานผลิตอาหารแช่แข็งในจังหวัดสงขลาทำสารแอมโมเนียรั่วไหล เป็นเหตุให้ลูกจ้างหมดสติหลายรายและอพยพนับร้อย จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านรักษาพยาบาลเต็มที่ ในเบื้องต้นพนักงานตรวจความปลอดภัยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 9 (สงขลา) รายงานว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานประกอบกิจการผลิตอาหารแช่แข็ง มีลูกจ้างทั้งหมด 547 คน ตั้งอยู่ในตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 เวลา 22.00 น. ซึ่งไม่มีลูกจ้างทำงานอยู่ในไลน์การผลิต มีเฉพาะทีมช่างที่เข้าเวรอยู่ ได้เกิดเหตุสารแอมโมเนียรั่วไหลฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งโรงงานและรอบ ๆ บริเวณโรงงาน เป็นเหตุให้ลูกจ้างที่พักอาศัยอยู่ภายในโรงงานประมาณ 100 คน และประชาชนที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงที่สูดดมสารแอมโมเนียเข้าไปเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน และบางรายอาการรุนแรงถึงขั้นหมดสติ ถูกนำตัวส่งสถานพยาบาลใกล้เคียงกว่า 10 ราย รวมทั้งต้องอพยพประชาชนที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงออกจากพื้นที่ ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมสารแอมโมเนียได้แล้ว สถานการณ์โดยรวมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากไปถึงนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก รวมทั้งสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ต่อไป
ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า เหตุดังกล่าว คาดว่าเกิดจากความขัดข้องของระบบเปิดปิดท่อลำเลียงแอมโมเนีย ทั้งนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 9 (สงขลา) จะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่านายจ้างมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.2556 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือไม่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ เลขาธิการประกันสังคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บ จำนวน 9 ราย เป็นคนไทย 3 ราย เมียนมา 6 ราย มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ทั้งนี้ หากแพทย์สั่งให้พักงาน ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นค่าทดแทนรายเดือนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ตามใบรับรองแพทย์ สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาท ต่อเดือน พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนต่อไป