กระทรวงพาณิชย์ หารือหน่วยงานพันธมิตร : ก.พ.ร. สพร. สศค. กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมการขนส่งทางบก พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ อำนวยความสะดวกประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจสามารถสืบค้นทะเบียนหลักประกันได้ ณ ที่เดียว ทำให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมหวังผล Ease of Doing Business ของธนาคารโลก ตัวชี้วัดการพัฒนาการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) มีคะแนนดีขึ้น คาดเริ่มใช้งานได้ประมาณเดือนตุลาคม ‘62 นี้
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เชิญหน่วยงานพันธมิตร และหน่วยงานจดทะเบียนสิทธิ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมการขนส่งทางบก ร่วมหารือการเชื่อมโยงข้อมูลทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจในการสืบค้นทะเบียนหลักประกันได้ ณ ที่เดียว ทำให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้อย่างรวดเร็ว ครบถ้วน และทันสมัย”
“ปัจจุบัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-secured) สำหรับจัดเก็บข้อมูลทรัพย์สินที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ และจัดให้มีระบบสำหรับให้ประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลทรัพย์นั้นได้ เช่น ข้อมูลประเภททรัพย์สิน เลขทะเบียนทรัพย์สิน วันที่จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ สถานะภาระผูกพันของทรัพย์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความครบถ้วนเป็นปัจจุบัน และมีความพร้อมในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานจดทะเบียนสิทธิอื่นๆ ซึ่งจากการหารือฯ มี 3 หน่วยงานที่มีความพร้อมที่จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ทันที คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมเจ้าท่า และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลกลางที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำหรับกรมการขนส่งทางบก และกรมการปกครอง อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน โดยจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ในระยะถัดไป ทั้งนี้ คาดว่าการเชื่อมโยงข้อมูลฯ จะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนตุลาคม 2562 นี้”
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลฯ ดังกล่าว หากเสร็จสมบูรณ์จะเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม อันจะส่งผลดีต่อการจัดอันดับของประเทศในรายงาน Doing Business ของธนาคารโลก อีกด้วย โดยปี 2019 ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับรวมอยู่ที่อันดับ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก และจัดอยู่ในอันดับที่ 44 ด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit)” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ หน่วยงานการจดทะเบียนสิทธิประกอบด้วย 1) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดเก็บข้อมูลทรัพย์ทุกประเภท ที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจ 2) กรมเจ้าท่า จัดเก็บข้อมูลเรือ 3) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดเก็บข้อมูลเครื่องจักร 4) กรมการขนส่งทางบก จัดเก็บข้อมูลรถยนต์ และ 5) กรมการปกครอง จัดเก็บข้อมูลสัตว์พาหนะ (ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ ลา)
ปัจจุบันสถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (4 กรกฎาคม 2559 – 20 มิถุนายน 2562) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 408,708 คำขอ จำนวนเงินสูงสุดที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 6,662,131 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 78.07 (มูลค่า 5,201,390 ล้านบาท) รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ คิดเป็นร้อยละ 21.88 (มูลค่า 1,458,124 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.03 (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 375 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 138 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 129 ล้านบาท)
ที่มา : กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ