วันที่ 25 มีนาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัวแนวคิดและเปิดตัว ๒๐ ศิลปิน เฟสแรกของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และภัณฑารักษ์ พร้อมด้วยศิลปิน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยว่ากระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมให้จังหวัดเชียงรายกลายเป็น “เมืองศิลปะระดับโลก” และเป็นจุดหมายที่นักเดินทางทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชมสร้างการบูรณาการระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้าและท่องเที่ยวให้ชุมชนเกิดรายได้ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบของเทศกาลศิลปะนานาชาติ เป็นการตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0 ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของวธ. และการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย Soft power ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวคิดหลักของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The Open World หรือ เปิดโลก ซึ่งเกิดมาจากการลงพื้นที่ศึกษาและค้นหาบริบทของเชียงรายมีข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่ประดิษฐาน ณ วัดป่าสัก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพหุวัฒนธรรม ที่แสดงถึงอิทธิพลจากวัฒนธรรมหลากหลายในเอเชียจนเป็นที่มาของแนวคิด The Open World หรือ เปิดโลก ในครั้งนี้ ดังนั้น วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นนับถอยหลังเข้าสู่การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโลกแห่งการรับรู้ทางศิลปะ เปิดประเทศ และเปิดเมืองเชียงราย เชื่อมโยงศิลปะสู่วิถีชีวิต ร่วมกันบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีไปพร้อมๆกับพี่น้องชาวเชียงราย
ด้าน นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในฐานะเจ้าบ้าน จังหวัดเชียงราย ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานในครั้งนี้ทุก ๆ กิจกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ ศิลปินเชียงราย ขัวศิลปะ องค์การบริหารส่วนตำบล หอการค้า ห้างร้าน มูลนิธิ สมาคมต่างๆ จนทำให้ขณะนี้พร้อมต้อนรับคณะศิลปิน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาชมงานในครั้งนี้ในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่จัดงานความพร้อมของผู้คนชุมชนโดยมั่นใจว่าหากได้มาเยือนจะหลงรักเชียงรายเพราะนอกจากความสวยงามของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตก ป่าไม้ วัดวาอาราม แหล่งประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีชีวิต จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองสำคัญที่มีความอุดมสมบูรณ์มีศักยภาพด้านทุนทางวัฒนธรรม ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน งดงามด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา มีสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และที่น่าภูมิใจยิ่ง คือเป็นถิ่นของปราชญ์ของแผ่นดิน และศิลปินหลากสาขา เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ล้วนได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าให้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เชียงรายได้รับการยอมรับในฐานะ “เมืองศิลปะ” เมืองศิลปิน ถิ่นทองของศิลปะร่วมสมัยอย่างแท้จริง
ด้านผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) คุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และ คุณกฤติยา กาวีวงศ์ และ ภัณฑารักษ์ (Curators) คุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ และ คุณมนุพร เหลืองอร่าม ได้เล่าถึงแนวคิด The Open World หรือ เปิดโลก ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ว่าระหว่างที่ลงพื้นที่และศึกษาข้อมูลของจังหวัดเชียงรายได้พบข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางเปิดโลก ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดป่าสัก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1838 ในสมัยพญาแสนภู ผู้สร้างเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นหลานของพญามังราย โดยพุทธลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปปางเปิดโลก ประทับยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลก ทั้ง 3 ได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ แสดงให้เห็นถึงปัญญาและการตื่นรู้ จึงกล่าวได้ว่า “เปิดโลก” หรือ The Open world มีความหมายที่ตรงไปตรงมา แต่สามารถตีความได้แบบปลายเปิด ที่สื่อถึงการเปิดโลกการรับรู้ทางศิลปะที่เชื่อมโยงความจริงและนำไปสู่การตั้งคำถามด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยว่าเราจะสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่ดีกว่าอีกครั้งได้หรือไม่
“เปิดโลก” หรือ The Open World ในทีนี้ยังหมายถึง ความสำคัญของการเรียนรู้จากอดีต ทั้งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของจังหวัดเชียงราย นับตั้งแต่สมัยอาณาจักรโบราณ เช่น โยนกนคร เงินยางเชียงแสน เวียงกาหลง และภูกามยาว ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของประเพณีและมรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา ด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องเล่าความเชื่อและมิติอันหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนระบบนิเวศของเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะชุมชนศิลปินเชียงรายซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยมี อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่สำคัญในการกลับมาสร้างสรรค์บ้านเกิดเมืองนอนให้เข้มแข็งและมีศักยภาพความพร้อมในมิติของการเป็นพื้นที่จัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 อีกด้วย
สำหรับ 20 ศิลปินที่ประกาศเปิดตัวเป็นกลุ่มแรกในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ประกอบด้วยศิลปินชาวไทยและต่างประเทศจากทั่วโลก ได้แก่
1. all(zone) กรุงเทพฯ
2. อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เชียงใหม่
3. บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม ราชบุรี
4. บู้ซือ อาจอ เชียงราย
5. Citra Sasmita บาหลี
6. Ernesto Neto รีโอเดจาเนโร
7. Haegue Yang โซล / เบอร์ลิน
8. Ho Tzu Nyen สิงคโปร์
9. กมลลักษณ์ สุขชัย กรุงเทพฯ
10. Michael Lin ไทเป / เซี่ยงไฮ้ / บรัซเซล
11. นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เชียงใหม่ / ฟูกูโอกะ
12. Nguyen Trinh Thi ฮานอย
13. นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ กรุงเทพฯ
14. รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ / กลุ่ม 101 เฮือนโบราณล้านนา เชียงใหม่
15. Ryusuke Kido โตเกียว
16. สนิทัศน์ ประดิษฐทัศนีย์ กรุงเทพฯ
17. Sawangwongse Yawnghwe อัมสเตอร์ดัม
18. Soe Yu Nwe ย่างกุ้ง
19. ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ เชียงราย
20. Tobias Rehberger แฟรงก์เฟิร์ต
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandbiennale.org Facebook https://www.facebook.com/thailandbiennale/ และสายด่วนวัฒนธรรม 1765