กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดคัดกรอง ค้นหา ตรวจและรักษาผู้ป่วยวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยง ยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ แนะประชาชน หากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกกลางคืน หรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็ก ให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน กินยาต่อเนื่อง รักษาหายขาด
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการค้นหาคัดกรอง ป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมวัณโรค เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560-2561 คัดกรองค้นหาในกลุ่มเสี่ยง ประมาณ 5 ล้านคนอาทิ ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สูงอายุที่มีโรค ผู้ป่วยเบาหวาน แรงงานข้ามชาติ บุคลากรสาธารณสุข พบผู้ป่วยวัณโรค 22,784 ราย และส่งต่อป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา สำหรับในปี 2562 ตั้งเป้าหมายลดผู้ป่วยรายใหม่ให้เหลือ 88 คนต่อแสนประชากรในปี 2564 จากที่พบ 156 คนต่อแสนประชากรในปี 2560
“ขอให้ประชาชนสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกกลางคืน หรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็ก ให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากป่วยจะได้รับการรักษา ซึ่งโรคนี้มียารักษาหายขาด จะได้ผลดีถ้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและวิตามิน เพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย” นายแพทย์สุขุมกล่าว
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรค เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เกิดที่ปอด และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เป็นต้น กลุ่มที่รับเชื้อได้ง่ายคือเด็ก จะรับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ในห้องที่ทึบอับแสงเชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดด เชื้ออาจอยู่ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน แพร่กระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ จะทราบว่าติดเชื้อวัณโรคได้จากการตรวจเสมหะ โดยการทดสอบทูเบอร์คิวลินจะให้ผลบวก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเคยติดเชื้อตอนเป็นเด็ก ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการของโรค ได้แก่ การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะการติดเชื้อ HIV ผู้ติดยาเสพติด และโรคขาดอาหาร
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีน BCG ให้เด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ซึ่งมีผลชัดเจนในการป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงแบบแพร่กระจาย และวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ทั้งนี้ สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย พบผู้ป่วย 108,000 รายต่อปี เสียชีวิต 12,000 ราย