นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ และผู้บริหารสูงสุดสายงานด้านบริหารกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้แทนมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท พร้อมด้วยมูลนิธิพุทธรักษา สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือดับไฟป่า รวมมูลค่า 1,000,000 บาท ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่า ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ ศูนย์บัญชาการควบคุมไฟป่า (ส่วนหน้า) ภาคเหนือ กรมป่าไม้ และศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าภาคเหนือ สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผู้รับมอบ ณ กรมป่าไม้ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
นายจอมกิตติ ศิริกุล ในฐานะกรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่า ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา “ไทยพบจุดความร้อน (hotspot) จำนวน 1,432 จุด ซึ่งส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 525 จุด, พื้นป่าสงวนแห่งชาติ 425 จุด, พื้นที่เกษตร 234 จุด, พื้นที่เขต สปก. 138 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ 103 จุด, และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด”
ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้ง 2 กรมได้บูรณาการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการดับไฟป่า เพื่อลดจุดความร้อนและลดปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างเร่งด่วน และเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชนในเขตพื้นที่ ประชาชน และให้มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานลาดตระเวน ป้องปราบการจุดไฟเผาป่า และตรวจสอบจุดความร้อนเพื่อดับไฟป่าอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารของเครือซีพี และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท พร้อมด้วยมูลนิธิพุทธรักษา เห็นถึงความสำคัญของปัญหาหมอกควันไฟป่าดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ชุมชน รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หมอกควันไฟป่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณคาร์บอนและกระตุ้นภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) จึงได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือดับไฟป่าแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของทั้ง 2 กรมในครั้งนี้
นอกเหนือจากนี้ เครือซีพี ได้มีการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างอาชีพและรายได้ในเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตามโครงการ Re4rest : ปลูกเพื่อความยั่งยืนบน 4 ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ได้แก่ ต้นน้ำปิง บนพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ต้นน้ำวัง บนพื้นที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง, ต้นน้ำยม บนพื้นที่ อ.ปง จ.พะเยา และต้นน้ำน่าน บนพื้นที่หลายอำเภอในเขต จ.น่าน
นอกจากนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินโครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามลดผลกระทบปัญหาหมอกควันไฟป่า และสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนและด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย