จากกรณี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ชุดปฏิบัติการ 5 เข้าจับกุม นายหน้าประกันวินาศภัยรายหนึ่ง โดยถูกจับกุมตัวได้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ตามหมายจับศาลแขวงชลบุรี ที่ 292/2565 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ในความผิดฐานฉ้อโกง กระทำการโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง และกระทำการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งในเบื้องต้นนายหน้าประกันวินาศภัยรายดังกล่าว ได้ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรดอนหัวฬ่อ จังหวัดชลบุรี ว่าได้กระทำความผิดจริง ด้วยการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก
แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแต่อย่างใด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานของรัฐมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยกับประชาชน ซึ่งการกระทำของบุคคลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงได้สั่งการให้สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงาน คปภ. ทำการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตของผู้ถูกจับกุม พบว่า มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและมีใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตและใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ จึงได้สั่งการให้สายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายหน้าประกันภัยรายนี้ ได้ยอมรับกับพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ. ว่าได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยและไม่ได้นำส่งให้บริษัทประกันภัยจริง ประกอบกับได้รับสารภาพกับเจ้าพนักงานตำรวจตามบันทึกการจับกุมของสถานีตำรวจภูธรดอนหัวฬ่อ จังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 8 มีนาคม 2566 แล้ว ดังนี้ การกระทำดังกล่าวของนายหน้าประกันภัยรายนี้ จึงเป็นการดำเนินงานที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน อันอาจเป็นความผิดตามมาตรา 76/1 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 นายทะเบียนจึงได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตแล้ว ทั้งนี้ผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตรายดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับความผิดที่เข้าข่ายการฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 108/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้นทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ระหว่างประสานพนักงานสอบสวนเพื่อขอเอกสารหลักฐานเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยกับประชาชน จะไม่นิ่งเฉยต่อบุคคลใด ๆ ที่สร้างความเสียหายและบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัยไทย โดยสำนักงาน คปภ. จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดในทุกมิติ นอกจากนี้หากมีตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัยมาเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ขอให้ประชาชนตรวจสอบใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัยได้ที่ www.oic.or.th และหากมีการชำระเบี้ยประกันภัยจะต้องได้รับเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัททุกครั้ง ทั้งนี้ หากพบเห็นพฤติกรรมการหลอกลวงด้านประกันภัยให้รีบแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงาน คปภ. โดยตรงผ่านสายด่วน คปภ. 1186