นิสิตและอาจารย์ต้นแบบเกษตรศาสตร์ ถอดรหัสนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดของในหลวง ร. 9 ตามรอยพระราชา อ่าวคุ้งกระเบน จันทบุรี สร้างนวัตกรรมคืนสู่สังคม
ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด มูลนิธิธรรมดี สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดโครงการพัฒนานิสิตต้นแบบสู่สากลด้วยศาสตร์พระราชา ให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกในเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านทางการศึกษาแนวความคิดจากโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี
ดร.จารุดา รัชนี ณ อยุธยา รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “การเดินทางตามรอยพระราชาในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อต่อยอดศาสตร์ของพระราชาให้เกิดเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงอ่านผ่านตัวอักษรในกระดาษ แต่ให้นิสิตเกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ศึกษาวิธีคิดและวิธีการทรงงานของพระองค์ ที่ทรงทำเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นได้เสมอ เช่น โครงการฝนหลวง โครงการแก้มลิง โครงการจัดการน้ำและทรัพยากรต่างๆ โดยในครั้งนี้มีนิสิตต้นแบบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมเดินทางกว่า 21 คน จากคณะมนุษยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และ คณะวนศาสตร์ เป็นนิสิตที่มีความประพฤติดี มีจิตอาสาและใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ โดยผ่านการคัดเลือกจากเหล่าตัวแทนอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ ที่ร่วมเดินทางด้วยกันในครั้งนี้ทั้ง 12 ท่าน”
กิจกรรมในโครงการพัฒนานิสิตต้นแบบสู่สากลด้วยศาสตร์พระราชา ตลอดการเดินทางสู่ จ.จันทบุรี ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ได้ให้เกียรติบรรยายถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 และประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่น้องๆ นิสิตไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรี จึงเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการนำคณะกราบสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชชาติไทย ณ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อเป็นสิริมงคลในการทำกิจกรรมตลอดการเดินทาง พร้อมเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ ด้านในค่ายตากสิน เพื่อเรียนรู้เรื่องราวในอดีต พระอัจฉริยภาพ ความเสียสละของบูรพกษัตริย์และความกล้าหาญของบรรพบุรุษไทยก่อนจะเป็นประเทศไทยที่สุขสบายในทุกวันนี้ ปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้แก่คณะนิสิตและอาจารย์ทุกท่าน
เมื่อคณะเดินทางเข้าสู่บริเวณพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน ได้รับฟังการบรรยายจาก นายนเรศ แสงอรุณ นักประชาสัมพันธ์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งเป็นผู้ที่ลงมือปฏิบัติงานจริงและบอกเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์จริง พร้อมสื่อวีดิทัศน์ที่ทำให้เหล่านิสิตและอาจารย์ได้เห็นถึงสภาพภูมิศาสตร์ที่เสื่อมโทรมของพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ทำให้เหล่านิสิตและอาจารย์ซาบซึ้งและประทับใจเป็นอย่างยิ่งจากการฟังบรรยาย “ต้นไม้ที่โตเร็วที่สุด..คือต้นไม้ที่ปลูกวันนี้” นายนเรศกล่าวปิดการบรรยาย เพื่อให้ข้อคิดกับเหล่านิสิตว่า หากเราเริ่มลงมือทำสิ่งดีๆ ตั้งแต่วันนี้ ผลลัพธ์ก็จะเจริญงอกงามในเร็ววัน
ตลอดช่วงบ่าย ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อัดแน่นด้วยกิจกรรมสนุกๆ ที่เหล่านิสิตได้ลงมือทำเป็นครั้งแรก สอดแทรกความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยปูดำจำนวน 20 กิโลกรัมลงทะเล การเขี่ยไข่ปูเพื่อเพาะพันธุ์ปูสู่ธนาคารปู การซั้งเชือกเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ การเพาะชำต้นกล้าป่าบก และเดินชมป่าชายเลนที่ถูกพัฒนาจนอุดมสมบูรณ์ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายอดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสา จากสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอสประเทศไทย (TRAFS) พร้อมทีมงาน จัดกิจกรรมถอดบทเรียนให้แก่เหล่านิสิต พร้อมเตรียมเกมกระดาน (Board game) ภายใต้แนวคิด Game of Our Nation และ ถอดรหัสการสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม
โครงการพัฒนานิสิตต้นแบบสู่สากลด้วยศาสตร์พระราชา ณ อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ตลอดวันที่ 23 – 24 มิถุนายน 2562 เต็มเปี่ยมไปด้วยความซาบซึ้งและประทับใจของคณะผู้จัดงาน วิทยากร คณะอาจารย์และนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกคน โดยหวังว่านิสิตทุกคนที่ผ่านโครงการแล้ว จะสานต่อคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา เป็นนิสิตต้นแบบที่สามารถปฏิบัติ และเผยแพร่ศาสตร์พระราชาที่ให้แก่คนรอบข้างและสังคม ดังคำกล่าวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ว่า “หากเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา.. พระองค์จะทรงอยู่ในหัวใจของพวกเราตลอดไป”